คมนาคมจัดทำแผนอำนวยความสะดวก 4 มาตรการรับการเดินทางช่วงสงกรานต์ 59

ข่าวทั่วไป Thursday April 7, 2016 16:43 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2559 นี้ กระทรวงคมนาคมได้จัดทำแผนอำนวยความสะดวกเพื่อรองรับการเดินทางในช่วงวันที่ 8-18 เม.ย. ซึ่งคาดว่าจะมีประชาชนเดินทางผ่านโครงข่ายคมนาคมทุกระบบประมาณ 22.63 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากสงกรานต์ปี 58 ที่มีการเดินทาง 21.46 ล้านคน เนื่องจากราคาน้ำมันลดลง และมาตรการภาครัฐลดหย่อนภาษี

ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมได้กำหนดแผนอำนวยความสะดวก 4 มาตรการ ประกอบด้วย 1.ด้านการให้บริการขนส่งสาธารณะ 2.ด้านโครงข่ายคมนาคม 3.ด้านการจัดเตรียมสิ่งอำนวยความสะดวกบริเวณสถานี และ 4.ด้านข้อมูลจราจร โดยได้จัดเตรียมสถานีขนส่งชานชาลาและพื้นที่จอดรถสำรองให้เพียงพอต่อความต้องการประชาชน ทั้งยานพาหนะโดยสาร และเที่ยวรถ เที่ยวบิน จาก 351,455 เที่ยว เป็น 406,248 เที่ยว รองรับผู้โดยสารได้เกือบ 25 ล้านคน อำนวยความสะดวกด้านโครงข่ายถนน ระบบส่งต่อผู้โดยสาร และจัดเจ้าหน้าที่ประมาณ 2 แสนคน ประจำจุดเฝ้าระวังทั่วประเทศ 148 จุด ที่คาดว่าจะมีปัญหาการจราจรหนาแน่น โดยคาดว่าจะมีประชาชนเดินทางสูงสุดในวันที่ 13 เม.ย. ช่วงเวลา 16.00-20.00 น. และถือเป็นช่วงเวลาเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้งที่สุด

รมว.คมนาคม กล่าวว่า ในเรื่องจุดตัดรถไฟ 2,517 จุดทั่วประเทศ ได้ให้ขอกำลังจาก อบต. อบจ.ประจำจุดตัดและทางลักผ่านทุกจุดที่ยังไม่มีเครื่องกั้น ส่วนจุดตัดถนนของกรมทางหลวง (ทล.) และกรมทางหลวงชนบท (ทช.) ให้อาสาสมัคร ทช.ที่มีอยู่ทั่วประเทศ 9,500 คน เฝ้าระวังตลอด ส่วนจุดตัดที่ติดตั้งเครื่องกั้นเสร็จแล้ว และอยู่ระหว่างส่งมอบให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดใช้ทันที

ด้านนายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รมช.คมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดโครงการมั่นใจทั่วไทย รถใช้ GPS ซึ่งเป็นการยกระดับมาตรฐานระบบขนส่งสาธารณะของประเทศให้มีความปลอดภัย ของกรมการขนส่งทางบกว่า ขณะนี้มีรถโดยสารสาธารณะ และรถลากจูงและรถบรรทุกขนาดใหญ่ทั่วประเทศ ติดตั้งระบบ GPS แล้วประมาณ 46,957คัน แบ่งเป็น รถโดยสารประจำทาง 3,232 คัน รถโดยสารไม่ประจำทาง 4,034 คัน รถบรรทุกไม่ประจำทาง 19,093 คัน รถบรรทุกส่วนบุคคล 12,240 คัน และรถอื่นๆ 8,358 คัน โดยได้เริ่มโครงการให้รถสาธารณะติดตั้ง GPS และอุปกรณ์ส่วนควบยกเว้นรถสองแถว และรถโดยสารหมวด 4 ตั้งแต่วันที่ 25 ม.ค.59 ส่วนรถที่จดทำเบียนก่อนการบังคับจะมีการกำหนดระยะเวลาให้ติดตั้ง GPS ต่อไป

ทั้งนี้ ภายในปี 60 รถสาธารณะจะต้องติดตั้งระบบ GPS เรียบร้อยทั้งหมด ซึ่งการทำงานของศูนย์บริหารจัดการเดินรถ ด้วยระบบ GPS ของกรมขนส่งฯ จะรับข้อมูลจากรถที่ติดตั้ง GPS ทุกคันแบบ Real Time ตลอด 24 ชั่วโมง ครอบคลุมทั้งหมดใน 11 จังหวัด 14 แห่ง หากพบการกระทำผิดระบบจะแจ้งเตือนพร้อมระบุข้อมูล เช่น การใช้ความเร็วเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด การขับรถเกินชั่วโมงทำงาน ไม่แสดงตัวคนขับ และการถูกร้องเรียนผ่านแอพพลิเคชั่น "DLT GPS" ที่เปิดให้ผู้ใช้บริการรถโดยสารรถสาธารณะและประชาชนทั่วไป สามารถค้นหาตำแหน่งของรถและร้องเรียนหรือแจ้งเหตุมายังศูนย์ฯ ได้ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งการใช้งานดังกล่าวจะใช้งานผ่านสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตบนระบบปฏิบัติการ Android เพียงระบุหมายเลขทะเบียนรถ ระบบจะแสดงตำแหน่งพิกัดของรถ ความเร็วที่ใช้ และรายละเอียดของพนักงานขับรถ พร้อมระบบร้องเรียน และช่องทางรับแจ้งเหตุ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ