ศปถ.สรุป 7 วันอันตรายสงกรานต์ เกิดอุบัติเหตุ 3,447 ครั้ง ตาย 442 เจ็บ 3,656

ข่าวทั่วไป Monday April 18, 2016 10:48 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ในฐานะประธานกรรมการและผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน เป็นประธานแถลงข่าวสรุปผลการดำเนินงานลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2559 เปิดเผยว่า ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน (ศปถ.) ประจำปี 2559 โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและความร่วมมือของหน่วยงานภาคีเครือข่ายได้รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 17 เมษายน 2559 ซึ่งเป็นวันที่เจ็ดของการรณรงค์ “สงกรานต์ปลอดภัย ส่งเสริมวัฒนธรรมไทย สร้างวินัยจราจร" เกิดอุบัติเหตุ 343 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 45 ราย ผู้บาดเจ็บ 385 คน จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ นครศรีธรรมราช เชียงใหม่ 14 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ ประจวบคีรีขันธ์ 4 ราย จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ นครศรีธรรมราช 18 คน สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ขับรถเร็วเกินกำหนด ร้อยละ 35.57 เมาสุรา ร้อยละ 23.91 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 79.14 รองลงมา รถปิคอัพ ร้อยละ 8.00 ส่วนใหญ่เกิดในเส้นทางตรง ร้อยละ 63.27 บนถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 41.98 ถนนใน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 34.99 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงเวลา 16.01 – 20.00 น. ร้อยละ 26.82 ผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มวัยแรงงาน ร้อยละ 46.43 ทั้งนี้ ได้จัดตั้งจุดตรวจหลัก 2,120 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 66,739 คน เรียกตรวจยานพาหนะ 617,870 คัน มีผู้ถูกดำเนินคดี รวม 95,483 ราย มีความผิดฐานไม่สวมหมวกนิรภัย 28,099 ราย ไม่มีใบขับขี่ 26,661 ราย

สรุปอุบัติเหตุทางถนนรวม 7 วัน ( 11 – 17 เม.ย.59) เกิดอุบัติเหตุรวม 3,447 ครั้ง ผู้เสียชีวิตรวม 442 ราย ผู้บาดเจ็บรวม 3,656 คน จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต มี 4 จังหวัด ได้แก่ ตราด ยะลา ระนอง และหนองบัวลำภู จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ 168 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นครราชสีมา 19 ราย จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ 175 คน สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เมาสุรา ร้อยละ 34.09 ขับรถเร็วเกินกำหนด ร้อยละ 32.93 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 80.67 รองลงมา รถปิคอัพ ร้อยละ 8.85 ส่วนใหญ่เกิดในเส้นทางตรง ร้อยละ 64.49 บนถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 37.86 ถนนใน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 36.12 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงเวลา 16.01 – 20.00 น. ร้อยละ 30.23 ผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มวัยแรงงาน ร้อยละ 52.28 ทั้งนี้ ได้เรียกตรวจยานพาหนะ 4,433,019 คัน มีผู้ถูกดำเนินคดี รวม 730,271 ราย มีความผิดฐานไม่สวมหมวกนิรภัย 211,502 ราย ไม่มีใบขับขี่ 204,006 ราย

สำหรับผลการปฏิบัติงานตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 46/2558 ประจำวันที่ 17 เมษายน 2559 ตรวจพบผู้กระทำผิดในลักษณะที่เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุโดยประมาทด้วยการดื่มแล้วขับ 88,264 ราย แยกเป็น รถจักรยานยนต์พบการกระทำผิด 35,179 ราย ดำเนินการยึดรถ 610 คัน ยึดใบอนุญาตขับขี่ 475 ราย และส่งดำเนินคดีทางกฎหมาย 15,051 ราย รถโดยสารสาธารณะและรถยนต์ส่วนบุคคล ตรวจพบผู้กระทำผิด 19,230 ราย ดำเนินการยึดรถ 231 คัน ยึดใบอนุญาตขับขี่ 628 ราย และส่งดำเนินคดีทางกฎหมาย จำนวน 16,860 ราย

สรุปผลการดำเนินการสะสมระหว่างวันที่ 9 – 17 เมษายน 2559 ตรวจพบผู้กระทำผิดในลักษณะที่เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุโดยประมาทด้วยการดื่มแล้วขับ 443,937 ราย แยกเป็น ยึดใบอนุญาตขับขี่ 17,449 ราย ส่งดำเนินคดีทางกฎหมาย 142,820 ราย ยึดรถ 6,613 คัน ประกอบด้วย รถจักรยานยนต์ 4,963 คัน และรถยนต์ส่วนบุคคล 1,650 คัน

พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวต่อว่า ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน ได้สั่งการให้จังหวัดนำข้อมูลสถิติอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ.2559 มา วิเคราะห์หาสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุ เพื่อกำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาในมิติเชิงพื้นที่ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว และให้บังคับใช้กฎหมายจราจรอย่างเคร่งครัดและจริงจัง เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงหลักที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุ ทั้งเมาแล้วขับและขับรถเร็ว อีกทั้งปรับปรุงข้อกฎหมายให้สอดคล้องกับสถานการณ์ เพื่อให้กลไกการบังคับใช้กฎหมายมีประสิทธิภาพมากขึ้น ตลอดจนพัฒนาระบบฐานข้อมูลสถิติอุบัติเหตุทางถนนให้มีเอกภาพ โดยมอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นเจ้าภาพหลักและผู้ว่าราชการจังหวัดเป็น เจ้าภาพในระดับพื้นที่ สนับสนุนและบูรณาการข้อมูลให้เป็นรูปธรรม

นอกจากนี้ ให้หน่วยงานด้านคมนาคมวางระบบโครงข่ายถนน ปรับปรุงแก้ไขจุดเสี่ยง และสิ่งแวดล้อมริมทางให้มีมาตรฐานความปลอดภัยตามหลักวิศวกรรมจราจร พร้อมทั้งควบคุมการตรวจสอบสภาพยานพาหนะทุกประเภท โดยเฉพาะรถโดยสารสาธารณะให้มีมาตรฐานความปลอดภัย ที่สำคัญ ให้ดำเนินการประชาสัมพันธ์ผ่านทุกช่องทางสื่อ เพื่อสร้างวินัยจราจรในการใช้รถใช้ถนนอย่างปลอดภัย พร้อมส่งเสริมการปลูกฝัง “ความเป็นไทย สร้างวินัยจราจร" อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สังคมไทยมีวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนนอย่างยั่งยืน

ด้านนายชยพล ธิติศักดิ์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนจะได้นำสถิติอุบัติเหตุทางถนนมาวิเคราะห์หาสาเหตุ และ ถอดบทเรียนการดำเนินงาน โดยนำความสำเร็จของจังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิตมาเป็นต้นแบบในการวางแนวทาง และกำหนดทิศทางการสร้างความปลอดภัยทางถนนอย่างยั่งยืน โดยมุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพ ในการบริหารจัดการปัญหาอุบัติเหตุทางถนน ควบคู่กับการลดปัจจัยเสี่ยงอุบัติเหตุทางถนนที่ครอบคลุมทั้งผู้ใช้รถใช้ถนน สภาพรถและเส้นทาง รวมถึงนำปัญหาอุปสรรคจากการดำเนินงานมาปรับปรุง พัฒนาแนวทางการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน เพื่อขับเคลื่อนการลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนให้ได้มากที่สุด

ขณะที่นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า จากสถิติอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2559 พบว่า มีสาเหตุหลักจากการดื่มแล้วขับและขับรถเร็วในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน คิดเป็น 2 ใน 3 ของจำนวนอุบัติเหตุทางถนน ทำให้ดัชนีความรุนแรงของอุบัติเหตุเพิ่มขึ้น โดยกว่าร้อยละ 53 เสียชีวิตในที่เกิดเหตุ ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน จะได้ถอดบทเรียน ทบทวนการดำเนินงานลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ รวมถึงกำหนดมาตรการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนที่มุ่งควบคุมปัจจัยเสี่ยงอุบัติเหตุทางถนนในทุกมิติ โดยเฉพาะการขับรถเร็วและการดื่มแล้วขับ ท้ายนี้ ในนามของรัฐบาลขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่ร่วมขับเคลื่อนการดำเนินการป้องกันและ ลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2559 ทั้งเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานประจำศูนย์ฯ ส่วนกลาง ระดับพื้นที่ ประจำจุดตรวจ ด่านตรวจจุดบริการ เพื่อร่วมสร้างความสุข ความปลอดภัยให้คนไทยปลอดภัยจากอุบัติเหตุและให้ทุกการเดินทางใน 365 วัน บนถนนเมืองไทยถึงที่หมายอย่างปลอดภัย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ