เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) เรียกร้องรัฐบาลดำเนินการบริหารจัดการแหล่งปิโตรเลียม 2 แหล่งใหญ่ของประเทศทั้งเอราวัณ และบงกช ที่จะหมดอายุสัมปทานในปี 65-66 นั้นด้วยการเปิดประมูลแข่งขันหาผู้ดำเนินการแหล่งปิโตรเลียมดังกล่าว เพื่อให้เกิดความโปร่งใส และประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศชาติ แทนการเจรจากับผู้รับสัมปทานรายเดิม พร้อมเรียกร้องให้จัดตั้งองค์กรก๊าซธรรมชาติ เพื่อบริหารจัดการความมั่นคงด้านพลังงานอย่างยั่งยืน
"เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทยไม่เห็นด้วยในกรณีที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ จะใช้วิธีการประชุมในวันจันทร์ที่ 30 พฤษภาคมนี้ แล้วใช้วิธีการเจรจาต่อรองกับผู้รับสัมปทานรายเดิมโดยไม่เปิดประมูลอย่างเสรีให้เกิดการแข่งขันอย่างสมบูรณ์ เราเห็นว่าการเจรจาต่อรองเช่นนี้ไม่สามารถเป็นหลักประกันได้ว่าจะสร้างความโปร่งใสและสร้างประโยชน์สูงสุดให้กับประชาชนได้อย่างแท้จริง"นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ แกนนำคปพ. กล่าว
นายปานเทพ ย้ำอีกว่าการที่รัฐบาลจะมอบสิทธิการผลิตและสำรวจปิโตรเลียมไม่ว่าจะด้วยวิธีการจ้างผลิต หรือระบบแบ่งปันผลผลิตนั้น รัฐบาลต้องเปิดประมูลให้เกิดการแข่งขันอย่างเสรีให้เทียบเท่าการประมูลใบอนุญาตคลื่นความถี่โทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 4G ดังนั้น ขอให้การประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ในวันพรุ่งนี้ยุติการกระทำในการพิจารณาดังกล่าว และให้หันมาเตรียมการให้เกิดประมูลแข่งขันอย่างเสรี และจะต้องมีผู้เข้าร่วมประมูลมากกว่า 1 รายขึ้นไปด้วย ซึ่งหากรัฐบาลยังยืนยันตามเดิม ทางคปพ.ก็จะกำหนดมาตรการขั้นต่อไปตามสถานการณ์
นางสาวรสนา โตสิตระกูล แกนนำคปพ. กล่าวว่า รัฐบาลควรจัดตั้งองค์กรก๊าซธรรมชาติขึ้นมาใหม่เหมือนก่อนที่มีการจัดตั้งการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยนั้น เคยมีองค์การก๊าซฯแห่งชาติที่เข้ามาดูแล ขณะที่หากปัจจุบันรัฐบาลจัดการปัญหาท่อส่งก๊าซฯและสัมปทานปิโตรเลียมที่จะหมดอายุแล้วกลับมาเป็นทรัพย์สินของประเทศได้ ก็จะสามารถบริหารจัดการความมั่นคงด้านพลังงานได้อย่างยั่งยืน
ด้านนายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล แกนนำคปพ. กล่าวว่า การดำเนินการบริหารจัดการแหล่งปิโตรเลียมที่จะหมดอายุนั้นรัฐบาลต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประเทศ ซึ่งการคัดเลือกเอกชนให้ได้สิทธิในการทำธุรกิจ หากไม่ใช้ระบบที่มีการแข่งขัน ไม่ใช้ระบบการประมูลอย่างเปิดเผยจะทำให้ประชาชนมั่นใจได้อย่างไรว่าจะได้ประโยชน์จากการบริหารจัดการปิโตรเลียมในอัตราที่สูงสุด ขณะที่การดำเนินการควรจะมีการแก้กติกาเกี่ยวกับภาษีที่เกี่ยวข้องกับปิโตรเลียมที่มีความล้าหลังนั้นให้มีความเหมาะสมโดยเร็ว และสนับสนุนให้มีการจัดตั้งองค์กรก๊าซธรรมชาติ เพื่อบริหารทรัพย์สินที่จะถูกโอนจากเจ้าของสัมปทานปิโตรเลียมที่กำลังจะหมดอายุกลับมาเป็นของรัฐ
ขณะที่นักวิชาการที่เป็นตัวแทนของคปพ. กล่าวด้วยว่า การที่รัฐบาลจะเจรจากับผู้รับสัมปทานรายเดิมในการบริหารจัดการแหล่งปิโตรเลียมที่จะหมดอายุลง เพื่อให้เกิดการต่อเนื่องในการผลิตนั้น เห็นว่าหากแหล่งปิโตรเลียมทั้งสองแหล่งจะต้องหยุดผลิตลงไปก็จะไม่กระทบต่อการผลิตไฟฟ้าของประเทศมากนัก เนื่องจากไทยยังมีกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้งมากกว่าความต้องการใช้ไฟฟ้า แต่อาจจะทำให้ปริมาณสำรองไฟฟ้าของไทยลดลงเหลือราว 6% ซึ่งต่ำกว่าระดับปกติที่ควรอยู่ที่ 15% แต่ก็ยังมีเวลาอีก 6-7 ปีกว่าสัมปทานแหล่งปิโตรเลียมจะหมดอายุก็เป็นเวลาที่ประเทศจะพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเข้ามาทดแทนได้ รวมถึงยังอาจมีการนำเข้าก๊าซฯเข้ามาเพิ่มเ ติมซึ่งเชื่อว่าประเทศจะสามารถบริหารจัดการได้ทันเวลาก่อนแหล่งปิโตรเลียมทั้งสองจะกลับมาดำเนินการผลิตได้อีกครั้งหลังจากมีผู้ดำเนินการรายใหม่เข้ามาบริหารจัดการแล้ว
อนึ่ง พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รมว.พลังงาน ระบุว่าการบริหารจัดการแหล่งปิโตรเลียมในอ่าวไทยที่จะหมดอายุสัมปทานในปี 65-66 นั้นจะเน้นการเจรจาเพื่อให้สิทธิแก่รายเดิมเป็นผู้บริหารจัดการต่อก่อนเพื่อให้การผลิตมีความต่อเนื่อง ซึ่งจะต้องให้ผลประโยชน์แก่ประเทศไทยมากที่สุด แต่หากไม่สำเร็จก็จะเปิดประมูลเพื่อหาผู้บริหารจัดการแหล่งปิโตรเลียมดังกล่าวต่อไป โดยจะเสนอเข้าสู่ที่ประชุมกพช.ในวันที่ 30 พ.ค.นี้
สำหรับแหล่งสัมปทานปิโตรเลียมที่จะหมดอายุในปี 65-66 ประกอบด้วย แปลงสำรวจหมายเลข B10,B11,B12 และ B13 (สัมปทานหมายเลข 1/2515/5 และ 2/2515/6) ซึ่งเป็นของกลุ่มบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด โดยมีแหล่งเอราวัณ เป็นแหล่งผลิตหลักที่สำคัญ ซึ่งแปลงสำรวจดังกล่าวจะหมดอายุในปี 65 ขณะที่แปลงสำรวจหมายเลข B15, B16 และ B17 (สัมปทานหมายเลข 3/2515/7 และ 5/2515/9) ซึ่งเป็นของกลุ่มบมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) โดยมีแหล่งบงกช เป็นแหล่งผลิตหลักที่สำคัญ ซึ่งแปลงสำรวจหมายเลข B15 จะหมดอายุในปี 65 ส่วนแปลงสำรวจหมายเลข B16 และ B17 จะหมดอายุในปี 66
ปัจจุบันทั้งแหล่งเอราวัณและบงกช นับเป็นแหล่งผลิตก๊าซธรรมชาติหลักของประเทศ โดยมีปริมาณการผลิตก๊าซฯราว 2,214 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน หรือคิดเป็น 76% ของปริมาณก๊าซฯในอ่าวไทย และคาดว่าจะสามารถผลิตก๊าซฯขึ้นมาใช้ได้ต่อไปอีกประมาณ 10 ปีหากมีการลงทุนต่อเนื่อง แต่หากไม่มีการดำเนินการใด ๆ ก็จะกระทบต่อปริมาณก๊าซฯที่จะทยอยลดลงต่อเนื่อง และในอีก 7 ปีข้างหน้าก๊าซฯก็จะหายไปราว 3 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต และต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ซึ่งมีราคาแพงเข้ามาทดแทน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (เอฟที) ราว 85 สตางค์/หน่วย ขณะที่ก๊าซฯนับเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้าของประเทศ
ดังนั้น เพื่อให้มีการรักษาระดับการผลิตและเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการผลิตก๊าซฯในการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีความชัดเจนอย่างช้าภายในปี 60 เนื่องจากผู้ที่ได้รับสัมปทานรายปัจจุบันอาจจะลดระดับการผลิตลงตามสัญญาซื้อขายก๊าซฯที่ทยอยลดลงเมื่อเข้าใกล้ช่วงสิ้นสุดสัมปทาน