พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี ประชุมคณะกรรมการเตรียมความพร้อมป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่ สร้างความเข้มแข็งระบบป้องกันควบคุมโรคของประเทศ โดยประเทศไทยได้มีการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคอย่างเข้มแข็ง พร้อมทั้งเร่งพัฒนาศักยภาพประเทศให้พร้อมรับมือตลอดเวลา เนื่องจากปัจจุบันยังคงพบการระบาดของโรคติดต่ออุบัติใหม่ เช่น โรคไข้หวัดนกที่ยังพบในสัตว์ปีกประเทศข้างเคียง โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา โรคทางเดินหายใจตะวันออกกลางหรือโรคเมอร์ส และโรคติดเชื้อไวรัสซิกา จากผู้เดินทางระหว่างประเทศ รวมถึงโรคติดต่อใหม่ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
โดยที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบ 3 เรื่องได้แก่ 1.แผนปฏิบัติการตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เรื่องการดำเนินงานด้านสุขภาพหนึ่งเดียวเพื่อความมั่นคงของประเทศ พ.ศ.2560 – 2564 ซึ่งเป็นแนวคิดในการปฎิบัติงานร่วมกันระหว่างสหสาขาวิชาชีพด้านสุขภาพคน สัตว์ สัตว์ป่า และสิ่งแวดล้อม โดยมอบ 8 กระทรวงที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ศึกษาธิการ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เกษตรและสหกรณ์ มหาดไทย พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สภากาชาด และสาธารณสุข ร่วมดำเนินการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการดังกล่าวให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม ประกอบด้วย 4 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1.)พัฒนาระบบความร่วมมือ ในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และข้อมูลข่าวสาร 2.)พัฒนาระบบการทำงานแบบบูรณาการ 3.)พัฒนาศักยภาพบุคลากร ตามสมรรถนะหลักสุขภาพหนึ่งเดียว แล 4.)การสื่อสารความเสี่ยง และประชาสัมพันธ์
2.การสนับสนุนด้านนโยบาย เรื่องการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ เช่น ยา วัคซีน ชุดตรวจทางห้องปฏิบัติการ อุปกรณ์การป้องกันควบคุมโรค เพื่อแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่ร่วมกับภาคอุตสาหกรรมแบบครบวงจร ทั้งการวางแผน สนับสนุนการผลิต กำลังคน เทคโนโลยี สนับสนุนผลิตภัณฑ์ การใช้ การตลาด ซึ่งตั้งเป้าขยายสู่ตลาดต่างประเทศ เพื่อให้เกิดความมั่นคงและพึ่งพาตนเองของประเทศ ทั้งในระยะสั้น กลาง และยาว โดยมอบให้คณะอนุกรรมการพัฒนาระบบจัดการความรู้และส่งเสริมการวิจัยพัฒนา จัดทำแผนการดำเนินงาน การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐในการพัฒนาผลิตภัณฑ์สำหรับรองรับโรคติดต่ออุบัติใหม่ของประเทศ เสนอต่อคณะกรรมการอำนวยการต่อไป
และ 3.กรอบแนวทางการสื่อสารและประชาสัมพันธ์โรคติดต่ออุบัติใหม่ เพื่อให้หน่วยงานต่างๆ ใช้เป็นแนวทางในการประชาสัมพันธ์สื่อสารความเสี่ยงโรคติดต่ออุบัติใหม่แก่ประชาชนได้อย่างทันเหตุการณ์ มีความรู้ความเข้าใจ เกิดความเชื่อมั่น และลดความตื่นตระหนก
มาตรการทั้ง 3 เรื่องนั้น สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่จะใช้กลไกประชารัฐในการขับเคลื่อนการบริหารราชการแผ่นดิน เป็นการทำงานร่วมกันทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคประชาชน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและเพิ่มขีดความสามารถของภาคประชาชนและประชาสังคม และตอบรับกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ให้ความสำคัญกับการกำหนดทิศทางการพัฒนาที่มุ่งสู่การเปลี่ยนผ่านประเทศไทย ให้บรรลุวิสัยทัศน์ระยะยาว “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน" ของประเทศ