​ นายสุเทพ น้อยไพโรจน์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทานประสบผลสำเร็จในการจัดทำโครงการสาธิตการทำนาแบบเปียกสลับแห้ง (แกล้งข้าว) เพื่อขยายผลองค์ความรู้ด้านการใช้น้ำในการทำนาอย่างประหยัดในพื้นที่นำร่อง 4 แห่ง ได้แก่ พื้นที่ชลประทานของโครงการชลประทานเชียงใหม่ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่แตง จ.เชียงใหม่ โครงการชลประทานอุบลราชธานี และโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาโดมน้อย จ.อุบลราชธานี
ทั้งนี้ การทำนาแบบเปียกสลับแห้ง จะช่วยให้เกษตรกรลดปริมาณการใช้น้ำลง ดังที่กรมชลประทานได้ทดลองปลูกข้าวเหนียวอายุ 5 เดือน ในพื้นที่ชลประทานของอ่างเก็บน้ำแม่โก๋น อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ ซึ่งปกติจะใช้น้ำประมาณ 1,500 ลูกบาศก์เมตรต่อไร่ แต่เมื่อทำนาแบบเปียกสลับแห้ง มีการใช้น้ำไปเพียงประมาณ 1,170 ลูกบาศก์เมตรต่อไร่ ลดลงประมาณร้อยละ 28 อีกทั้ง มีผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้นจาก 712 กก./ไร่ เป็น 845 กก./ไร่ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 18 ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น คุณภาพชีวิตดีขึ้น ทำให้ในปัจจุบันเยาวชน รุ่นหลัง ๆ หันมาสนใจการทำนา เป็นการรักษาพื้นที่ชลประทานให้คงอยู่ รวมทั้งยังเกิดความสามัคคีในชุมชนที่ไม่ต้องแย่งน้ำกันต่อไปอีกด้วย
​ อธิบดีกรมชลประทานกล่าวต่ออีกว่า เพื่อเป็นการขยายผลการทำนาแบบเปียกสลับแห้งไปสู่เกษตรกรในพื้นที่ชลประทานได้อย่างเป็นรูปธรรม กรมชลประทานจึงได้กำหนดนโยบาย “1โครงการ 1 พื้นที่ตัวอย่าง" ขึ้นมาโดยให้โครงการชลประทานและโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาทั่วประเทศ จัดหาพื้นที่ตัวอย่างในเขตชลประทานที่รับผิดชอบ ทำนารอบ 2 แบบเปียกสลับแห้ง ตั้งแต่ฤดูทำนารอบที่ 2 ปี 2559/2560 โดยตั้งเป้าขยายผลเกษตรกรหันมาทำนาด้วยวิธีนี้เพิ่มขึ้นให้มากที่สุด
“ในปัจจุบันการพัฒนาแหล่งเก็บกักน้ำใหม่ๆ ทำได้ยากขึ้น และต้องใช้ระยะยาวนาน ประกอบกับสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนไปปัญหาการขาดแคลนน้ำเกิดบ่อยขึ้น แต่ความต้องการใช้น้ำในภาคส่วนต่าง ๆ เพิ่มขึ้นตลอดเวลา ดังนั้น หากภาคการเกษตรโดยเฉพาะการทำนารอบ 2 ลดปริมาณการใช้น้ำลง จะทำให้ในอนาคตจะมีปริมาณน้ำเพื่อสนับสนุนกิจกรรมการใช้น้ำในช่วงฤดูแล้งเพิ่มขึ้น ปัญหาการขาดแคลนน้ำจะลดลง" นายสุเทพกล่าว ​