นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมรับฟังความคิดเห็นต่อร่างแผนยุทธศาสตร์ด้านสาธารณสุขเพื่อรองรับเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ พ.ศ.2561-2565 โดยมีผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงบประมาณ กระทรวงที่เกี่ยวข้องอาทิ มหาดไทย แรงงาน อุตสาหกรรม คลัง ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สาธารณสุขและสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด 10 จังหวัดพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ภาคเอกชนอาทิ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย มูลนิธิและสถาบันวิชาการ ร่วมให้ความคิดเห็น 120 คน
กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดทำร่างแผนยุทธศาสตร์ด้านสาธารณสุขเพื่อรองรับเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ พ.ศ.2561-2565 รองรับนโยบายรัฐบาลได้มีนโยบายในการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษบริเวณชายแดนเป้าหมายใน 10 จังหวัด ได้แก่ ตาก สระแก้ว ตราด มุกดาหาร สงขลา กาญจนบุรี เชียงราย หนองคาย นครพนม และนราธิวาส ซึ่งมีนิคมอุตสาหกรรม 13 ประเภทในพื้นที่ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนและส่งเสริมการค้าการลงทุนความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจะส่งผลกระทบให้ปัญหาสาธารณสุขมีความซับซ้อนขึ้น เช่น ปัญหาการเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าวอาจส่งผลให้เกิดการแพร่กระจายของโรคติดต่อและโรคอุบัติใหม่ รวมทั้งการจัดบริการสุขภาพเพื่อรองรับแรงงานทั้งชาวไทยและต่างด้าว โดยคาดการณ์ว่าจะมีแรงงานต่างด้าวทั้งที่จดทะเบียนและไม่จดทะเบียนทำงานในพื้นที่ไม่ต่ำกว่า 615,000 คน
นพ.สมศักดิ์ กล่าวต่อว่า ร่างแผนยุทธศาสตร์ฉบับนี้ ตั้งเป้าหมายให้ประชาชนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษได้รับบริการที่มีคุณภาพ มาตรฐาน มีหลักประกันสุขภาพ สามารถเข้าถึงบริการสุขภาพ และอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพดี ประกอบด้วย 4 ยุทธศาสตร์ คือ 1.ยุทธศาสตร์การเตรียมความพร้อมด้านสาธารณสุข โดยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสถานบริการซึ่งมีโรงพยาบาล 24 แห่ง โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล 144 แห่ง ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ 26 ด่าน และจัดตั้งด่านอาหารและยา 2 แห่ง การเพิ่มขีดความสามารถในการจัดบริการสุขภาพที่หลากหลาย การพัฒนาศักยภาพกำลังคนด้านสุขภาพและเพิ่มอัตรากำลังของสถานบริการและด่านสาธารณสุขและการพัฒนาระบบข้อมูล
2.ยุทธศาสตร์การเพิ่มขีดความสามารถของระบบป้องกัน ควบคุมโรค และภัยสุขภาพ ระบบส่งต่อผู้ป่วย คุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ เพื่อตอบโต้ปัญหาสุขภาพ 3.ยุทธศาสตร์ลดความเสี่ยงด้านสาธารณสุข โดยพัฒนาระบบประกันสุขภาพประชากรต่างด้าว การสร้างความเข้มแข็งและความร่วมมือของทุกภาคส่วนในการดำเนินงานสาธารณสุข การพัฒนาระบบการเฝ้าระวังสุขภาพของประชาชนด้านอาชีวอนามัยและอนามัยสิ่งแวดล้อม และ4.ยุทธศาสตร์การปรับเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารจัดการด้านสาธารณสุข โดยการพัฒนาและปรับปรุงกฎหมายด้านสาธารณสุขและกฎหมายที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน และการปรับบทบาท ภารกิจ โครงสร้างของสถานบริการและด้านสาธารณสุข
ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข จะรวบรวมความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องไปปรับปรุงยุทธศาสตร์ให้มีความเหมาะสมในการแก้ไขปัญหาสาธารณสุขในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป