ศาลปกครองพิพากษายกฟ้องคดีพิพาทระหว่างผู้ฟ้องคดี 45 ราย กับ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) หรือ ทอท.กรณีที่ได้รับผลกระทบทางมลพิษทางอากาศ ทางเสียงและความสั่นสะเทือนจากการขึ้น-ลงของเครื่องบินที่ใช้บริการในสนามบินสุวรรณภูมิซึ่งเปิดใช้งานอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2549 เป็นต้นมา รวมทั้งละเลยและไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้ ศาลได้ตรวจพิจารณาเอกสารทั้งหมดในสำนวนคดี กฎหมาย ระเบียบ และข้อบังคับที่เกี่ยวข้องประกอบด้วยแล้ว เห็นว่าผู้ถูกฟ้องคดีไม่ได้ละเลยไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมเพิ่มเติมและไม่ใช่การกระทำที่ก่อให้เกิดมลพิษที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดี และไม่ต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดีตามที่เรียกค่าเสียหายในคำฟ้อง
สำหรับผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศในบรรยากาศบริเวณรอบพื้นที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระหว่างปี 2550 ถึงปี 2554 มิได้มีผลแตกต่างไปจากผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศที่ตรวจวัดในปี 2535 และ 2544 อย่างมีนัยสำคัญและอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานตามประกาศคระกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 (พ.ศ.2538) ออกตามความในพ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 เรื่อง กำหนดมาตรฐานคุณภาพาอากาศในบรรยากาศทั่วไปแก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 24 (พ.ศ.2557) และที่แก้ไขเพิ่มเติม ตามประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ฉบับที่ 33 (พ.ศ.2552) เรื่องกำหนดมาตรฐานค่าก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ในบรรยากาศทั่วไป
ส่วนผลการตรวจวัดระดับเสียง ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2550 ถึงเดือนมิถุนายน 2555 จำนวน 13 สถานีตรวจวัด พบว่า สถานีตรวจวัดหมู่บ้านพนาสนธิ์การ์เด้นโฮม3 สถานีตรวจวัดสาวิตรีอพาร์ทเมนท์ และสถานีตรวจวัดบริเวณใกล้กับมหาวิทยาลัยเกริก มีค่าระดับเสียงเฉลี่ย 24 ชั่วโมงเกินจากเกณฑ์มาตรฐานเพียงเล็กน้อย แต่เป็นเฉพาะบางช่วงของการตรวจวัดเท่านั้น
สำหรับกากของเสียทั้งหมดที่เกิดขึ้น ทาง ทอท.ได้ว่าจ้างให้บริษัทที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายนำไปกำจัด มิได้ปล่อยให้มีการรั่วไหลหรือแพร่กระจายสู่สิ่งแวดล้อมภายนอก จึงไม่เข้าองค์ประกอบของมาตรา 59 แห่งพ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 ที่ให้อำนาจคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติประกาศให้พื้นที่ท่าอากาศขยายสุวรรภูมิเป็นเขตควบคุมมลพิษเพราะปัญหาผลกระทบทางเสียงและมลพิษทางอากาศในบริเสวณพื้นที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิยังไม่ถึงขึ้นจะมีแนวโน้มที่จะร้ายแรงถึงขนาดเป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชนหรืออาจก่อให้เกิดผลกระทบเสียหายต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและอยู่ในวิสัยที่จะแก้ไขปรับปรุงได้ตามมาตรการป้องกันและแก้ปขผลกระทบสิ่งแวดล้อม
ขณะที่คำขอให้ ทอท.จำกัดจำนวนผู้โดยสารที่เข้ามาใช้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิไม่ให้เกิน 45 ล้านคนต่อปี ตามที่รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมไม่ได้กำหนดให้ต้องจำกัดจำนวนผู้โดยสารที่ 45 ล้านคนต่อปี หาก ทอท.สามารถปฏิบัติตามมาตรการลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมและมาตรการตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่กำหนดไว้ในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมเพิ่มเติมดังกล่าวได้
"กรณีที่มีผู้โดยสารจำนวนมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ แต่จำนวนเที่ยวบินขึ้น-ลง ยังคงไม่เกิน 76 เที่ยวบินต่อชั่วโมงและไม่ส่งผลกระทบต่อการคิดคำนวณแนวเส้นเสียงของพื้นที่ (NEF) ที่กำหนดไว้เดิม"