นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ผลจากการที่ไทยเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ทำให้มีการเคลื่อนย้ายประชากรระหว่างประเทศได้อย่างเสรี กระทรวงสาธารณสุขจึงต้องเร่งดำเนินการ อาทิ โรคที่มากับการเคลื่อนย้ายประชากร โดยเฉพาะโรคติดต่อ เพื่อที่ไม่ให้เป็นภัยคุกคามคนไทยและระบบป้องกันควบคุมโรคของประเทศ ซึ่งที่ผ่านมามีความร่วมมือในการดำเนินงานทั้งระดับประเทศ และระดับพื้นที่บริเวณแนวชายแดน
ทั้งนี้ กระทรวงได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ มหาดไทย ตำรวจ ตรวจคนเข้าเมือง ดำเนินงานในส่วนของแรงงานต่างชาติที่เข้ามาทำงานในไทยให้เข้าสู่ระบบประกันสุขภาพทั้งหมด ครอบคลุมไปถึงผู้ติดตามและครอบครัว เพื่อให้กลุ่มดังกล่าวเข้าถึงบริการที่จำเป็น ทั้งการส่งเสริมป้องกัน รักษา เป็นไปตามข้อตกลงระหว่างประเทศและหลักมนุษยธรรม
โดยได้จัดระบบรองรับแรงงานต่างด้าว ซึ่งหมดระยะเวลาผ่อนผันให้อยู่ในประเทศและอนุญาตให้ทำงานอย่างถูกกฎหมาย ในวันที่ 31 มีนาคม 2559 ได้กำชับให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ รณรงค์ให้ผู้ประกอบการนำแรงงานต่างด้าว ผู้ติดตาม และคนต่างด้าวที่มีประมาณ 3.5 ล้านคน มาตรวจสุขภาพและประกันสุขภาพ ก่อนขึ้นทะเบียนให้มากที่สุด เพื่อประโยชน์ต่อตัวแรงงาน ผู้ติดตาม นายจ้างและคนไทยทุกคน โดยเฉพาะผู้ติดตามแรงงานต่างด้าวที่เป็นเด็กจำเป็นต้องได้รับวัคซีนตามแผนการให้วัคซีนของไทย เพื่อป้องกันไม่ให้โรคติดต่อที่หายไปแล้วเช่น คอตีบ โปลิโอ กลับมาระบาดอีกครั้ง โดยจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน ตั้งแต่ 1 เมษายน -29 กรกฎาคม 2559
นอกจากนี้ กระทรวงได้กำหนดหน่วยบริการตรวจสุขภาพและออกใบรับรองแพทย์สำหรับแรงงานต่างด้าว ได้แก่ โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทุกแห่ง โรงพยาบาลในกรุงเทพมหานคร 6 แห่ง คือ โรงพยาบาลกลาง นพรัตน์ราชธานี เลิดสิน ราชวิถี ตากสิน เจริญกรุงประชารักษ์ และโรงพยาบาลเอกชน 2 แห่ง คือพิชัยเวชและบางปะกอก 9 สำหรับอัตราค่าบริการในการตรวจสุขภาพและประกันสุขภาพเป็นอัตราเดิม โดยในแรงงานต่างด้าว รวมถึงผู้ติดตาม ซึ่งเป็นบุตรของแรงงานต่างด้าวอายุ 7-18 ปี บัตรราคา 3,700 บาท คุ้มครอง 2 ปี ค่าตรวจสุขภาพครั้งแรกคนละ 500 บาท ค่าประกันสุขภาพคนละ 3,200 บาท ค่าตรวจสุขภาพครั้งต่อไปอีก 1 ปีค่าตรวจ 500 บาท ในส่วนผู้ติดตามซึ่งเป็นบุตรอายุไม่เกิน 7 ปี ไม่มีค่าตรวจสุขภาพ บัตรราคา 730 บาท คุ้มครอง 2 ปี ค่าประกันสุขภาพคนละ 730 บาท โดยสิ้นสุดการคุ้มครอง 31 มีนาคม 2561
"ปัญหาแรงงานต่างชาติเป็นเรื่องใหญ่ ต้องดำเนินงานในหลายมิติ ร่วมทั้งด้านสาธารณสุขด้วย ทั้งนี้ เพื่อความปลอดภัยจากภัยคุกคามด้านโรคติดต่อและคงความเข้มแข็งของระบบสาธารณสุขไทย" นพ.โสภณ กล่าว