พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นับตั้งแต่ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 18 พ.ค.59 ทำให้มีฝนตกต่อเนื่องโดยทั่วไป และสถานการณ์ภัยแล้งคลี่คลายลงในหลายพื้นที่ เพราะเริ่มมีฝนตกบริเวณเหนือเขื่อน เขื่อนหลายแห่งเริ่มมีน้ำไหลลงอ่างสะสมมากขึ้น เช่น เขื่อนภูมิพล 43.03 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนสิริกิติ์ 45.98 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน 16.10 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ 6.16 ล้าน ลบ.ม. รวมปริมาณน้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ทั่วประเทศ 30,849 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 44 ของความจุอ่างรวมกัน แต่ยังถือว่าอยู่ในเกณฑ์ไม่มากนักและสามารถรองรับน้ำได้อีกมาก
“รัฐบาลได้กำชับให้หน่วยงานด้านน้ำพยายามกักเก็บน้ำให้ได้มากที่สุด โดยให้สอดคล้องกับปริมาณฝนที่ตกลงมาและไม่ให้กระทบต่อพื้นที่ท้ายเขื่อน ล่าสุด ครม. ได้อนุมัติงบประมาณ 1,406.41 ล้านบาทให้ก่อสร้างแก้มลิง สถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า ระบบส่งน้ำ ระบบผันน้ำ และเพิ่มความจุอ่างเก็บน้ำที่มีอยู่เดิม รวม 35 โครงการ เพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำ"
พล.ต.สรรเสริญ กล่าวต่อว่า สำหรับพื้นที่ประกาศเป็นเขตภัยพิบัติภัยแล้ง 23 จังหวัด หน่วยงานภาครัฐได้บูรณาการให้ความช่วยเหลือพี่น้องประชาชนอย่างต่อเนื่องจนกว่าภัยแล้งจะยุติ เช่น การแจกจ่ายน้ำอุปโภคบริโภค และสนับสนุนเครื่องสูบน้ำเพื่อการเกษตร ขณะเดียวกันยังตั้งเป้าเพิ่มน้ำต้นทุนอีก 3,000 ล้าน ลบ.ม.จากปฏิบัติการฝนหลวง โดยอาศัยอิทธิผลของร่องฝนและพายุจร ตั้งแต่เดือน มิ.ย.-พ.ย.59
“ท่านนายกฯ ฝากเตือนพี่น้องประชาชนว่า แม้ภาวะภัยแล้งจะเริ่มเบาบางลง แต่ก็ยังมีความเสี่ยงที่ฝนอาจทิ้งช่วงได้ในช่วงปลายเดือน มิ.ย.-ต้นเดือน ก.ค.ปีนี้ รวมถึงปริมาณน้ำในเขื่อนที่มีไม่มากนักอาจส่งผลต่อการใช้น้ำช่วงฤดูแล้งปีหน้า จึงได้กำชับให้หน่วยงานภาครัฐวางแผนบริหารจัดการน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด และขอความร่วมมือประชาชนสำรองน้ำฝนและกักเก็บน้ำไว้ใช้ ส่วนเกษตรกรต้องวางแผนเพาะปลูกพืชให้สอดคล้องกับสถานการณ์น้ำในพื้นที่"โฆษกรัฐบาล กล่าว