สาธารณสุข เผยแนวโน้มโรคไข้เลือดออกปีนี้ดีขึ้น กำชับเข้มมาตรการ "3 เก็บ 3 โรค+5 ส."ตลอดฤดูฝน

ข่าวทั่วไป Tuesday June 28, 2016 12:26 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยภายหลังจากประชุมผู้บริหารสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข มอบรางวัลให้หน่วยงานที่ผ่านการประเมิน 5 ส. พร้อมมอบนโยบายการดำเนินงานว่า ขอให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขดำเนินการนโยบาย 5 ส.และ 3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค อย่างเคร่งครัดต่อเนื่อง เพื่อให้ปลอดภัยจากโรคที่มาจากยุงลายที่เป็นพาหะนำโรคสำคัญ คือ โรคไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสซิกา และโรคไข้ปวดข้อยุงลาย โดยเฉพาะโรคไข้เลือดออก ที่มักจะระบาดในช่วงฤดูฝน

ทั้งนี้ ข้อมูลจากสำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง สัปดาห์ที่ 24 ของปี 2559 ตั้งแต่ต้นปี 2559 ถึง 21 มิ.ย.59 พบผู้ป่วยไข้เลือดออกสะสม 19,620 คน เมื่อเทียบกับปี 2558 ณ ช่วงเวลาเดียวกันจำนวนผู้ป่วยลดลง 28% หรือ 0.71 เท่า มีผู้ป่วยเสียชีวิต 16 ราย โดยแนวโน้มการระบาดดีขึ้น พบผู้ป่วยต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ เนื่องจากมีการรณรงค์ด้วยมาตรการ 3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค บวกมาตรการ 5 ส. อย่างเข้มข้นต่อเนื่อง ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งรัฐเอกชน และประชาชน ตามแนวทางประชารัฐ โดยเฉพาะในเขตเมืองใหญ่ กรุงเทพมหานคร พบว่าการควบคุมป้องกันโรคทำได้ดีขึ้น โดยมีปัจจัยสนับสนุนคือ การเข้าสู่ฤดูฝนช้า และสายพันธุ์โรคไข้เลือดออกไม่เปลี่ยนแปลงจากปีที่ผ่านมา

สำหรับการกระจายการเกิดโรคไข้เลือดออก ส่วนใหญ่พบในกลุ่มอายุ 10-14 ปี มีอัตราป่วยสูงสุด คือ 82.30 ต่อประชากรแสนคน รองลงมาได้แก่ กลุ่มอายุ 5-9 ปี เป็นนักเรียน 42% ภาคกลางมีผู้ป่วยสูงที่สุด 8,512 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยในกรุงเทพมหานคร 3,667 คน รองลงมาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 5,233 คน ภาคใต้ 2,940 คน และภาคเหนือ 2,935 คน

อย่างไรก็ตาม กำชับให้สำนักงานสาธารณสุขทั่วประเทศ หน่วยงานในสังกัดทุกแห่ง รณรงค์มาตรการควบคุมป้องกันโรคไข้เลือดออกอย่างต่อเนื่อง ด้วยมาตรการ 3 เก็บ 3 โรค เก็บบ้าน เก็บขยะ เก็บน้ำ บวก 5 ส. เพราะขณะนี้ไทยเข้าสู่ฤดูฝน โรคไข้เลือดออกจะยังคงเสี่ยงที่จะระบาดได้ตลอด 3 เดือนในช่วงฤดูฝนนี้ ขอความร่วมมือประชาชนดูแลป้องกันตัวเองไม่ให้ป่วย คือ ทายากันยุง นอนในมุ้ง ป้องกันไม่ให้เสียชีวิต คือ เมื่อป่วยมีไข้สูง สงสัยโรคไข้เลือดออกให้รีบไปพบแพทย์ ไม่มียุงด้วยการไม่มีแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย คือ เก็บเศษภาชนะที่มีน้ำขัง ในบ้านและบริเวณบ้าน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ