นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อเผชิญเหตุตามแผนบริหารความเสี่ยงและแผนเผชิญเหตุของระบบการขนส่งสาธารณะทางรางในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ระหว่างกระทรวงคมนาคม กรุงเทพมหานคร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) กรมประชาสัมพันธ์ กรมการขนส่งทางบก สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร การรถไฟแห่งประเทศไทย การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) โดยระบุว่า ความร่วมมือนี้มีเป้าหมายเพื่อให้ผู้ให้บริการระบบขนส่งทุกโหมดร่วมกันแก้ไขปัญหากรณีเกิดเหตุขัดข้องทางเทคนิคของระบบขนส่งสาธารณะทางรางให้สามารถกลับมาอยู่ในภาวะปกติโดยเร็วที่สุด และลดผลกระทบของประชาชนลง ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 1 มี.ค.59 ให้กระทรวงฯดำเนินการป้องกันปัญหาที่และจัดทำแผนฉุกเฉิน และแผนเผชิญเหตุร่วมกันในระบบขนส่งสาธารณะ
ด้านนายพีระยุทธ สิงห์พัฒนากุล ผู้ว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กล่าวว่า ตามมาตรฐานคู่มือกรณีระบบรถไฟฟ้าเกิดเหตุขัดข้อง ระยะเวลาในการแก้ไขระบบให้กลับมาเหมือนเดิมประมาณ 6 นาที ส่วนการการถ่ายโอนผู้โดยสารนั้นจะดำเนินการใน 10 นาที
ส่วนนายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มบมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) กล่าวว่า การซ่อมบำรุงระบบรถไฟฟ้านั้น บริษัทดำเนินการอย่างเต็มที่ ทั้งแบบเปลี่ยนตามกำหนดและเปลี่ยนแบบป้องกัน โดยบริษัทไม่มีการจำกัดงบประมาณในส่วนนี้และสามารถเพิ่มได้ตามความเหมาะสม ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการซ่อมบำรุงระบบใหญ่ (Overhaul) ไปแล้ว 2 ครั้ง
ทั้งนี้ การป้องกันปัญหาและจัดทำแผนฉุกเฉิน และแผนเผชิญเหตุร่วมกันในระบบขนส่งสาธารณะ ได้มีขั้นตอนและวิธีปฏิบัติที่กำหนดไว้ในคู่มือแผนบริหารความเสี่ยง ได้แก่
1. ศูนย์อำนวยการ กรณีเกิดเหตุขัดข้องทางเทคนิค
กรณีการให้บริการรถไฟฟ้าเกิดเหตุขัดข้องทางเทคนิค กระทรวงคมนาคม โดยศูนย์ปลอดภัยคมนาคม จะจัดตั้งศูนย์อำนวยการประสานงานและแก้ไขปัญหาเฉพาะกิจ โดยมีผู้อำนวยการศูนย์ปลอดภัยคมนาคม เป็นผู้อำนวยการศูนย์ ทำหน้าที่อำนวยการและประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ไขสถานการณ์ และประชาสัมพันธ์ตามวิธีปฏิบัติที่กำหนด พร้อมทั้งรายงานสถานการณ์ให้ผู้บริหารกระทรวงฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบ นอกจากนี้ ศูนย์อำนวยการฯ จะช่วยสนับสนุนการอำนวยการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งติดตามการแก้ไขสถานการณ์เพื่อเตรียมการสนับสนุนอื่น ๆ จนกว่าจะเหตุการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติ
2. การปฏิบัติของผู้ให้บริการเดินรถไฟฟ้ากรณีที่เกิดเหตุ 2.1 แก้ไขเหตุการณ์ตามคู่มือแผนบริหารความเสี่ยงฯ และตามคู่มือปฏิบัติของหน่วยงาน แล้วแต่กรณี รวมทั้งรายงานเหตุการณ์ให้ศูนย์ปลอดภัยคมนาคมทราบ 2.2 กรณีมีความจำเป็น ให้ประสานหน่วยแพทย์ฉุกเฉินโดยด่วน 2.3 ประสานหน่วยงานขนส่งสาธารณะทางรางอื่น เพื่อประสานการขนถ่ายผู้โดยสารกรณีจำเป็น
3. การประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 4. การกำกับและติดตามการดำเนินงาน 5. การทบทวนและปรับปรุงแก้ไขบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ