ครม.เห็นชอบหลักการร่างแก้ไขเพิ่มเติม ป.วิอาญา ไม่ให้จำเลยที่หลบหนีคดียื่นอุทธรณ์-ฎีกาต่อศาล

ข่าวทั่วไป Tuesday July 12, 2016 16:49 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการ ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ตามที่นายมหรรณพ เดชวิทักษ์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เสนอ โดยสาระสำคัญคือ ไม่ต้องการให้จำเลยที่หลบหนีคดีในระหว่างที่คดีอยู่ในชั้นศาลสามารถยื่นอุทธรณ์หรือยื่นฎีกาได้

"กรณีที่จำเลยซึ่งไม่ได้ถูกคุมขังเป็นผู้ที่ยื่นอุทธรณ์หรือยื่นฎีกานั้น จำเลยจะยื่นอุทธรณ์หรือยื่นฎีกาได้ก็ต่อเมื่อแสดงตนต่อเจ้าพนักงานศาลในขณะที่ยื่น ถ้าไม่แสดงตน ศาลจะไม่รับพิจารณาการอุทธรณ์หรือฎีกา" พล.ต.สรรเสริญ กล่าว

พร้อมชี้แจงว่า สาเหตุที่ต้องมีการปรับแก้ไขกฎหมายเช่นนี้ เพราะจากเดิมในมาตรา 182 ของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ระบุว่า กรณีใดที่ศาลออกหมายจับแล้ว และไม่ได้ตัวจำเลยมาภายใน 1 เดือน ให้ศาลสามารถอ่านคำพิพากษาลับหลังจำเลยได้เลย และถือว่าจำเลยนั้นได้ฟังคำพิพากษาแล้ว ซึ่งจำเลยจะสามารถใช้สิทธิอุทธรณ์หรือฎีกาได้ โดยมอบให้ทนายความเป็นผู้รับมอบอำนาจไปยื่นอุทธรณ์และฎีกา แต่ในส่วนนี้นายมหรรณพ สมาชิก สนช.ซึ่งเป็นผู้ยื่นเสนอขอแก้ไขกฎหมายดังกล่าว มองว่าไม่น่าจะเป็นประโยชน์ต่อกระบวนการพิจารณาความ เพราะจำเลยเองยังหลบหนี แต่กลับสามารถใช้สิทธิอุทธรณ์หรือฎีกาได้ด้วย

"เขาจึงขอออกกฎหมายฉบับนี้มา เพื่อไม่ต้องการให้ผู้ที่มีเจตนาหลบหนีศาลสามารถอุทธรณ์-ฏีกาได้ ซึ่ง ครม.พิจารณาแล้วเห็นว่าตรงกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการสร้างความเป็นธรรม และไม่อยากให้มีคดีความมาก จำเลยยังไม่มาศาล แต่จะมายื่นอุทธรณ์ได้คงไม่เหมาะ ครม.เห็นชอบตามที่ สนช.เสนอ" โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ