กรมป้องกันฯ เผยภาวะภัยแล้งสิ้นสุด ยุติการให้ความช่วยเหลือใน 41 จ.-ชี้แม้เข้าสู่ฤดูฝน แต่น้ำในเขื่อนยังน้อย

ข่าวทั่วไป Friday July 15, 2016 17:27 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุปกิต โพธิ์ปภาพันธ์ รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ประธานการประชุมกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก) อำนวยการติดตาม ซักซ้อมการเฝ้าระวัง และประเมินสถานการณ์ภัยแล้ง ครั้งที่ 22/2559 กล่าวว่า ได้มีการประกาศยุติเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) ปี พ.ศ.2559 ทั้ง 41 จังหวัด 267 อำเภอ 1,444 ตำบล 11,840 หมู่บ้าน เนื่องจากระยะนี้หลายพื้นที่ของประเทศมีฝนตกหนาแน่น ส่งผลให้สถานการณ์ภัยแล้งสิ้นสุดลงในทุกพื้นที่

ขณะที่ปริมาณฝนตกสะสมเข้าสู่ภาวะปกติ เนื่องจากปรากฏการณ์เอลนิโญสิ้นสุดลง และมีแนวโน้มเข้าสู่ปรากฏการณ์ลานีญา ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2559 ที่ผ่านมา ทำให้ปีนี้ประเทศไทยมีปริมาณฝนใกล้เคียงค่าปกติหรือมากกว่าเล็กน้อย แต่เนื่องจากประเทศไทยประสบสถานการณ์ภัยแล้งติดต่อกันตั้งแต่ปี พ.ศ.2557 - 2559 แม้มีฝนตกและเริ่มมีน้ำไหลเข้าเขื่อน แต่ปริมาณน้ำในเขื่อนยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่าเกณฑ์ค่าเฉลี่ย รัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ห่วงใยประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบ จึงได้สั่งการให้กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง วางแผนการบริหารจัดการน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด พร้อมจัดสรรน้ำให้สอดคล้องกับปริมาณฝนและสถานการณ์น้ำในพื้นที่ โดยไม่ให้กระทบต่อประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ท้ายเขื่อน

อีกทั้งจากการติดตามสถานการณ์น้ำ พบว่า เขื่อนส่วนใหญ่ยังคงมีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์ต่ำ โดยเฉพาะเขื่อนบางลาง จังหวัดยะลา หากไม่มีน้ำไหลเข้าเขื่อนเพิ่มเติม คาดว่าปริมาณน้ำจะลดลงใกล้ระดับกักเก็บต่ำสุดและอาจต้องนำน้ำสำรองที่อยู่ก้นเขื่อนมาใช้งาน จึงต้องขอความร่วมมือประชาชนใช้น้ำอย่างประหยัด กักเก็บน้ำ และสำรองน้ำไว้สำหรับอุปโภคบริโภค ส่วนเกษตรกรควรวางแผนการเพาะปลูกพืชให้สอดคล้องกับสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำในพื้นที่ พร้อมปฏิบัติตามคำแนะนำของทางราชการอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันผลผลิตทางการเกษตรได้รับความเสียหาย และมีปริมาณน้ำเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคถึงปีหน้า

อย่างไรก็ตาม จากการติดตามสภาพอากาศ พบว่า หลายพื้นที่มีฝนตกหนักถึงหนักมาก โดยเฉพาะภาคใต้ ภาคตะวันออก และฝั่งตะวันตกของประเทศ ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุทกภัยและดินโคลนถล่มจากปริมาณฝนตกสะสม ปภ.จึงได้ประสานจังหวัดในพื้นที่เสี่ยงภัยเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติในช่วงฤดูฝน โดยจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิด และจัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์ให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัย รวมถึงแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยระมัดระวังอันตรายจากภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้นได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ