โฆษก รบ.เผยการจัดระเบียบขอทานคืบหน้า เตรียมบังคับใช้กฎหมายควบคุม 28 ก.ค.นี้

ข่าวทั่วไป Saturday July 23, 2016 15:07 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลได้ดำเนินการจัดระเบียบคนขอทาน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ที่กำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติอย่างต่อเนื่องทั้งการจัดตั้งกองทุนเพื่อพัฒนาคนไร้ที่พึ่งและคนขอทานที่ปัจจุบันมียอดเงินบริจาคแล้วราว 1.5 ล้านบาท การยับยั้งป้องกันขอทานต่างด้าว การพัฒนาและฟื้นฟูศักยภาพคนขอทาน และการสร้างความเข้าใจแก่ประชาชน

“ตั้งแต่เดือน ต.ค. 57 ถึงปัจจุบัน พบคนขอทาน รวม 4,618 คน เป็นขอทานไทย 2,927 คน ขอทานต่างด้าว 1,691 คน โดยหากเป็นคนขอทานต่างด้าวจะดำเนินการผลักดันส่งกลับประเทศต้นทาง ส่วนคนขอทานไทยจะส่งเข้ารับการพัฒนาและฟื้นฟูศักยภาพทั้งทางร่างกาย จิตใจ สังคม และการประกอบอาชีพตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ณ สถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง ภายใต้โครงการธัญบุรีโมเดลและบ้านน้อยในนิคม"

ทั้งนี้ รัฐบาลได้ผลักดัน พ.ร.บ.ควบคุมการขอทาน พ.ศ. 2559 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 28 ก.ค.นี้ ประกอบด้วยสาระสำคัญ คือ 1) แยกผู้แสดงความสามารถออกจากผู้ขอทาน โดยให้แจ้งต่อพนักงานท้องถิ่นเพื่อออกบัตรประจำตัวผู้มีความสามารถ 2) คุ้มครอง และพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ขอทานไม่ให้กลับมาขอทานอีก 3) กำหนดความผิดทางอาญากับผู้แสวงหาประโยชน์จากการขอทาน โดยผู้ขอทานมีโทษจำคุก 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนผู้แสวงหาผลประโยชน์จากการขอทาน มีโทษจำคุก 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 4) มีคณะกรรมการควบคุมการขอทาน ทำหน้าที่ขับเคลื่อนการดูแลคนขอทาน

“ท่านนายกฯ ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาคนขอทาน ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศและเชื่อมโยงไปสู่ปัญหาการค้ามนุษย์ โดยฝากชื่นชมการทำงานของ พม. ที่ทำให้สถิติของคนขอทานลดลงไปได้มาก และมีระบบบริหารจัดการที่มีความชัดเจนเป็นรูปธรรม

อย่างไรก็ตาม ได้กำชับให้ พม. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ตำรวจ ฝ่ายปกครอง หรือองค์กรท้องถิ่น ที่มีหน้าที่บังคับใช้กฎหมายให้ดำเนินอย่างเด็ดขาด และแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนตามหลัก 3P ภายใต้แนวคิดให้ทานถูกวิธี ลดวิถีการขอทาน รวมทั้งรณรงค์ให้สังคมหยุดการให้เงินแก่คนขอทาน เพื่อตัดวงจรของการขอทานที่ส่วนหนึ่งมีการทำกันเป็นขบวนการ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ