นายสมคิด วงศ์ไชยสุวรรณ รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า จากการเข้าตรวจสอบเรือขนส่งสินค้าจากประเทศญี่ปุ่นที่ท่าเรือแหลมฉบัง พบตู้คอนเทนเนอร์ จำนวน 8 ตู้ โดยมีต้นทางจากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งสินค้าสำแดงเป็นเศษโลหะ (metal scrap) เศษทองแดง (copper scrap) และเศษอลูมิเนียม (aluminum scrap) จากการตรวจสอบสินค้าจำนวน 1 ตู้คอนเทนเนอร์ถูกต้องตรงตามสำแดง แต่ตู้คอนเทนเนอร์ อีกจำนวน 7 ตู้ที่เหลือ ตรวจพบเป็นซากเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้แล้ว ซึ่งมีปริมาณรวม 196.11 ตันนั้น ทางกรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมศุลกากร กรมควบคุมมลพิษ และสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ได้จัดพิธีเตรียมการจัดส่งของเสียอันตรายทั้งหมด โดยของเสียดังกล่าวจะถูกส่งกลับไปยังประเทศญี่ปุ่นมีกำหนดเดินทางในวันที่ 29 ก.ค.นี้ คาดว่าจะถึงประเทศต้นทางในวันที่ 7 ส.ค.59 หลังจากนั้นกระทรวงสิ่งแวดล้อม ประเทศญี่ปุ่น จะดำเนินคดีตามกฎหมายกับผู้ส่งออกต่อไป
อย่างไรก็ตาม ความพยายามในการส่งกลับสินค้าที่เข้าข่ายเป็นของเสียอันตรายตามอนุสัญญาบาเซล นอกจากจะเป็นการปฏิบัติเพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนดของอนุสัญญาบาเซลแล้ว ยังเป็นการแสดงถึงความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลญี่ปุ่นที่มีเจตนารมณ์ในการยุติปัญหาการลักลอบเคลื่อนย้ายของเสียอันตรายระหว่างประเทศ และแสดงถึงความเอาจริงเอาจังของรัฐบาลไทยในการป้องกันการลักลอบนำเข้าของเสียที่เป็นอันตรายเข้ามาทิ้งภายในประเทศโดยไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย อีกทั้งยังเป็นการร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลญี่ปุ่นที่ให้ความสำคัญในการดำเนินตามพันธกรณีที่ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันไว้ในการร่วมมือกับนานาประเทศเพื่อยุติปัญหาการลักลอบเคลื่อนย้ายของเสียอันตรายระหว่างประเทศและเป็นการอนุวัติให้เป็นไปตามข้อตกลงของอนุสัญญาบาเซล ตลอดจนเพื่อสร้างมาตรฐานของการบริหารกากของเสียของไทยให้เป็นไปตามมาตรฐานการจัดการกากของเสียสากล
ด้านนายศักดา พันธ์กล้า รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ซากเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้แล้วดังกล่าวจัดเป็นของเสียอันตรายตามอนุสัญญาบาเซลและเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 โดยการนำเข้าต้องได้รับอนุญาตจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม โดยกรณีดังกล่าวทำให้ผู้นำเข้ามีความผิดตามมาตรา 23 แห่ง พ.ร.บ. วัตถุอันตราย พ.ศ.2535 รวมถึงมีความผิดฐานสำแดงชนิดสินค้าเป็นเท็จเพื่อหลีกเลี่ยงข้อห้าม ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 กรมโรงงานอุตสาหกรรมดำเนินการประสานไปยังกรมศุลกากร กรมควบคุมมลพิษ และเอกชนที่เกี่ยวข้องกับกรณีนี้เพื่อยุติปัญหาและได้ดำเนินคดีตามกฎหมายกับผู้นำเข้า ขณะเดียวกันได้ประสานไปยังกระทรวงสิ่งแวดล้อม ประเทศญี่ปุ่น เพื่อขอคำยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรในการส่งสินค้าดังกล่าวกลับต้นทาง โดยประเทศญี่ปุ่น ได้ตอบรับและยินยอมให้ส่งของเสียทั้งหมดกลับคืนต้นทาง