3 หน่วยงานรัฐร่วมป้องกันอุบัติเหตุทางถนน ตั้งเป้าลดเสียชีวิตลง 50% ภายในปี 63

ข่าวทั่วไป Friday July 29, 2016 12:30 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นพ.อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กรมควบคุมโรค ร่วมกับกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จัดโครงการป้องกันการบาดเจ็บจากการจราจรในเมืองใหญ่ หรือเรียกว่า City RTI เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรม เนื่องจากปัญหาการบาดเจ็บจากการจราจรในเมืองใหญ่สร้างความสูญเสียให้แก่ประชาชน โดยในวันนี้ได้มีการจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ ในการขับเคลื่อนการดำเนินงานป้องกันการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนนในเมืองใหญ่ เพื่อถ่ายทอดนโยบาย องค์ความรู้ เทคนิคแนวทาง โดยมีหน่วยงานที่เข้าร่วมประชุม ได้แก่ เทศบาลนครทั่วประเทศ เทศบาลเมืองเข้ารูปช้าง และเมืองพัทยา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนการป้องกันการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนนในเมืองใหญ่ และเสริมสร้างศักยภาพของเครือข่ายในงาน City RTI ให้สามารถดำเนินการได้ด้วยตนเองอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ ตามทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนน ได้ตั้งเป้าหมายลดอัตราการเสียชีวิตจากการจราจรทางถนนลงครึ่งหนึ่งหรือ 50% ภายในปี 2563 หรืออัตราการเสียชีวิต 10 ต่อประชากรแสนคน

"จากรายงานขององค์การอนามัยโลก Global Status Report on Road Safety 2015 จัดให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนเป็นอันดับ 2 ของโลก และจากการบูรณาการข้อมูลผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน 3 ฐาน (กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และบริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด) พบว่า คนไทยเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนมากถึงปีละ 22,000-24,000 คน หรือชั่วโมงละ 3 คน" นพ.อำนวย กล่าว

นอกจากนี้ข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขพบว่ามีผู้บาดเจ็บประมาณเกือบ 1 ล้านคน นอนรักษาตัวโรงพยาบาลประมาณ 2 แสนคนต่อปี และมีผู้พิการอีกปีละกว่า 7,000 คน คิดเป็นความสูญเสียทางเศรษฐกิจกว่า 2 แสนล้านบาทต่อปี จากข้อมูลมรณบัตรปี 2557 พบว่า จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนสูงสุด 10 อันดับแรก ได้แก่ นครราชสีมา ชลบุรี อุบลราชธานี เชียงใหม่ ขอนแก่น เชียงราย สงขลา นครสวรรค์ อุดรธานี และระยอง ทั้งนี้ผู้เสียชีวิตจะเกิดขึ้นที่อำเภอเมืองมากที่สุด สาเหตุสำคัญของการเกิดอุบัติเหตุ คือ การขับขี่ด้วยความเร็วสูง ดื่มแล้วขับ และพฤติกรรมที่ทำให้อุบัติเหตุรุนแรงเพิ่มขึ้น เช่น การไม่สวมหมวกนิรภัย ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยง/จุดเสี่ยงจากสภาพถนนและสิ่งแวดล้อมที่ปัจจัยทำให้เกิดอุบัติเหตุ

ขณะที่ข้อมูลของบริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด พบว่าในเมืองใหญ่เกิดอุบัติเหตุ ที่ทำให้บาดเจ็บและเสียชีวิตมากถึง 30-40% ของอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในจังหวัด เนื่องจากมีประชากรอยู่อย่างหนาแน่น มีแรงงานหลั่งไหลเข้ามาทำงานในเมือง มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการคมนาคมขนส่ง การแก้ไขปัญหาดังกล่าวจะดำเนินการเพียงหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งไม่ได้ จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายๆ หน่วยงาน เพื่อให้เกิดการบูรณาการในทุกระดับร่วมกันเป็นทีมสหสาขา และที่สำคัญต้องได้รับความร่วมมือจากท้องถิ่น เทศบาล ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ ร่วมกับภาคีเครือข่ายดำเนินมาตรการแก้ไขปัญหาในพื้นที่อย่างจริงจัง จึงจะทำให้ปัญหานี้บรรเทาความรุนแรง และลดความสูญเสียลงได้

โดยความร่วมมือครั้งนี้มุ่งเน้นให้เกิดกิจกรรมสำคัญดังนี้ 1.ให้มีการจัดการข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูลทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ และมีการเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์ผ่านกล้อง CCTV (Situation Room) และนำภาพการเกิดอุบัติเหตุจากกล้อง CCTV มาวิเคราะห์หาสาเหตุ รวมทั้งมีการสอบสวนการบาดเจ็บ เพื่อนำมาแก้ไขความเสี่ยงที่เกิดขึ้น และ 2.ให้มีการกำหนดพื้นที่ควบคุมพิเศษเพื่อเป็นเขตจราจรปลอดภัย (Traffic Safety Zones) ในการใช้พื้นที่จราจร การส่งเสริมการสวมหมวกนิรภัย การงดใช้โทรศัพท์มือถือขณะขับขี่ การงดใช้สารเสพติดขณะขับขี่ การจัดการความปลอดภัยในเด็ก การจัดการความปลอดภัยของรถจักรยาน และสนับสนุนให้เกิดมาตรการองค์กรความปลอดภัยทางถนนขึ้นในหน่วยงาน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ