ก.เกษตรฯ เผยสถานการณ์น้ำ 33 เขื่อนหลัก และคาดปี 60 มีน้ำเพื่อการเกษตรในช่วงฤดูแล้ง

ข่าวทั่วไป Thursday August 18, 2016 17:38 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำใน 33 เขื่อนหลักล่าสุดว่า ขณะนี้มีปริมาณน้ำใน 33 เขื่อนหลักสูงกว่าปี 2558 อยู่มาก โดย 4 เขื่อนหลักในปี 2558 นั้น มีน้ำที่ใช้การได้ประมาณ 1,500 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ปัจจุบันมีปริมาณน้ำ 3,200 ล้านลูกบาศก์เมตร ถือว่ามากกว่าเดิมเท่าตัว พร้อมกันนี้ยังคาดการณ์น้ำเพื่อการเกษตรที่ใช้ในช่วงฤดูแล้งและฤดูฝนปี 2560 ว่า จะมีปริมาณเพียงพอ คือประมาณ 9,000 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยให้มีการติดตามและประเมินผลตลอดเวลา

สำหรับน้ำในเขื่อนที่มีปริมาณสูงสุด คือ เขื่อนสิริกิติ์ 1,900 ล้านลูกบาศก์เมตร เนื่องจากรับน้ำจากทางแม่น้ำน่าน จ.น่าน และเมื่อเทียบกับปี 2558 มีเพียง 782 ล้านลูกบาศก์เมตรเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ในหลายพื้นที่ยังมีปริมาณน้ำในเขื่อนอยู่น้อย อาทิ เขื่อนศรีนครินทร์ จ.กาญจนบุรี เขื่อนวชิราลงกรณ์ กาญจนบุรี เขื่อนกระเสียว จ.สุพรรณบุรี และเขื่อนจุฬาภรณ์ จ.ชัยภูมิ

ทั้งนี้ สถานการณ์น้ำในแม่น้ำยมยังน่าเป็นห่วง เนื่องจากไม่มีเขื่อนรองรับ กรมชลประทานจึงมีแนวทางระบายน้ำออกจากพื้นที่ เพื่อลดความเดือดร้อนของประชาชน ซึ่งขณะนี้กำลังดำเนินการอยู่ พร้อมกันนี้ จะทำงานร่วมกับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในการวางแผนและพิจารณาเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างเต็มที่อีกด้วย

ด้านนายสุเทพ น้อยไพโรจน์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวเพิ่มเติมว่า ปริมาณน้ำจาก จ.แพร่ จะไหลลงสู่ จ.สุโขทัยในอีกประมาณ 2 วันข้างหน้า ซึ่งกรมชลประทานคาดการณ์ว่าจะมีปริมาณน้ำไหลผ่านสูงสุดที่สถานี Y.14 อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย อยู่ในเกณฑ์ประมาณ 1,100 ลูกบาศก์เมตร/วินาที กรมชลประทานจะใช้ประตูระบายน้ำแม่น้ำยม (บ้านหาดสะพานจันทร์) อ.สวรรคโลก ในการบริหารจัดการน้ำ

โดบปัจจุบันได้มีการพร่องน้ำหน้าประตูระบายน้ำแม่น้ำยมให้ลดต่ำลง เพื่อเพิ่มพื้นที่รับน้ำหลากจากตอนบน ประมาณ 12 ล้านลูกบาศก์เมตร รวมทั้งผันน้ำส่วนหนึ่งทางด้านเหนือประตูระบายน้ำแม่น้ำยม เข้าสู่คลองหกบาทในอัตรา 180 ลูกบาศก์เมตร/วินาทีไปลงคลองยม - น่าน และแม่น้ำยมสายเก่า ในอัตรา 80 และ 100 ลูกบาศก์เมตร/วินาทีตามลำดับ ก่อนจะระบายน้ำลงสู่แม่น้ำน่านด้านเหนือเขื่อนนเรศวร จ.พิษณุโลก ซึ่งได้มีการลดระดับน้ำหน้าเขื่อนไว้รองรับน้ำที่จะมาจากคลองยม - น่านไว้แล้วเช่นกัน

นายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ปริมาณน้ำสูงสุดในแม่น้ำยมจากอำเภอเมือง จ.แพร่ ได้ไหลผ่าน อ.วังชิ้น จ.แพร่ไปแล้ว โดยไม่ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนในเขต อ.วังชิ้น ยกเว้นพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำบางแห่งเท่านั้น ซึ่งปริมาณน้ำนี้จะไหลไปถึง อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย(Y.14) ในช่วงเวลาประมาณตี 4 ถึง 6 โมงเช้าวันพรุ่งนี้(19 ส.ค.59) ในเกณฑ์สูงสุดประมาณ 1,100 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ก่อนจะไหลลงสู่ประตูระบายน้ำแม่น้ำยม (บ้านหาดสะพานจันทร์) อ.สวรรคโลก จ.สุโขทัยเป็นลำดับต่อไป โดยขณะนี้น้ำที่มาจาก จงแพร่ ได้เดินทางมาถึงบริเวณหน้าประตูระบายน้ำแม่น้ำยมแล้ว ทำให้ระดับน้ำในบริเวณดังกล่าวเพิ่มสูงขึ้น แต่ยังไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ริมฝั่งแต่อย่างใด

ในส่วนของการเตรียมการรับมือกับปริมาณน้ำที่ไหลลงมาจาก จ.แพร่นั้น กรมชลประทานได้มีการเตรียมการรับมือก่อนน้ำมาไว้ก่อนล่วงหน้าแล้ว โดยการพร่องน้ำในระบบชลประทานให้ลดต่ำลง เพื่อให้มีพื้นที่รับน้ำและระบายน้ำได้สะดวกมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการพร่องน้ำบริเวณด้านหน้าประตูระบายน้ำแม่น้ำยมให้ลดต่ำลง เพื่อเพิ่มพื้นที่รองรับน้ำจากตอนบน และการลดน้ำเข้าคลองหกบาท เพื่อให้สามารถรับน้ำและระบายน้ำไปลงแม่น้ำน่านบริเวณด้านเหนือเขื่อนนเรศวร จ.พิษณุโลก ได้อย่างสะดวกและรวดเร็วมากขึ้น พร้อมกับควบคุมปริมาณน้ำให้ไหลผ่านประตูระบายน้ำแม่น้ำยม ให้อยู่ในเกณฑ์ประมาณ 550 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ตามความจุของลำน้ำที่ไหลผ่านตัวเมืองสุโขทัย เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อพื้นที่เศรษฐกิจในเขตตัวเมืองสุโขทัยอีกด้วย


แท็ก เขื่อน  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ