นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ในช่วงที่ผ่านมาเกิดภาวะฝนตกหนักต่อเนื่องบริเวณตอนบนของประเทศ ทำให้หลายจังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือเกิดสถานการณ์อุทกภัย รวมถึงระดับน้ำในแม่น้ำโขงมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น แต่ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าตลิ่ง โดยบริเวณจังหวัดเชียงราย มุกดาหาร และอุบลราชธานี ระดับน้ำเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ขณะที่บริเวณจังหวัดเลย หนองคาย และนครพนม ระดับน้ำลดลง เพื่อเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์อุทกภัยและน้ำล้นตลิ่ง
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้ประสานจังหวัดในพื้นที่เสี่ยงภัยจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังสถานการณ์และติดตามระดับน้ำและปริมาณน้ำในลำน้ำสายสำคัญต่างๆ พร้อมประสานแจ้งเตือนให้ประชาชนรับทราบสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อขนย้ายสิ่งของและเครื่องใช้ขึ้นที่สูง อพยพสัตว์เลี้ยงและเคลื่อนย้ายพาหนะไปอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย รวมถึงวางแผนป้องกันน้ำท่วมพื้นที่สำคัญ โดยเฉพาะเขตเศรษฐกิจ ย่านชุมชน โรงงานอุตสาหกรรม โดยจัดวางกระสอบทรายเสริมเป็นแนวคันกั้นน้ำ เปิด – ปิดประตูระบายน้ำให้สัมพันธ์กับช่วงเวลาที่ฝนตก วางระบบการพร่องน้ำ การระบายน้ำ และการผันน้ำลงสู่แหล่งน้ำตามธรรมชาติและระบบชลประทาน พร้อมสำรวจเส้นทางระบายน้ำไม่ให้มีสิ่งกีดขวางทางไหลของน้ำ เพื่อให้การระบายน้ำเป็นไปด้วยความรวดเร็ว
สำหรับสถานการณ์น้ำท่วมขังในพื้นที่กรุงเทพมหานครจากภาวะฝนตกหนัก เมื่อช่วงเย็นวันที่ 24 สิงหาคม 2559 ทำให้น้ำท่วมขังผิวถนนใน 12 เขต รวม 27 จุด ขณะนี้สถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว
ทั้งนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้ร่วมกับกรุงเทพมหานคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประสานปฏิบัติการแก้ไขปัญหา และบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน โดยมุ่งเน้นการวางระบบระบายน้ำให้มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการเพิ่มเครื่องสูบน้ำบริเวณจุดอ่อนที่มีน้ำท่วมขัง การประสานการแจ้งเตือนข้อมูลสภาพอากาศ และปริมาณการจราจรกับประชาชน เพื่อหลีกเลี่ยงเส้นทางที่มีน้ำท่วมขัง อีกทั้งได้จัดชุดปฏิบัติการเคลื่อนที่เร็วออกให้บริการซ่อมแซมและเคลื่อนย้ายรถที่เครื่องยนต์ขัดข้องไม่ให้จอดกีดขวางเส้นทาง เพื่อลดผลกระทบจากการจราจรติดขัด
อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กล่าวต่อว่า จากการติดตามสภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า พื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ ยังมีฝนตกหนักต่อเนื่องและฝนตกหนักบางแห่ง จึงขอให้ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัยติดตามพยากรณ์อากาศ และปฏิบัติตามประกาศเตือนภัยอย่างเคร่งครัด พร้อมระมัดระวังอันตรายจากปริมาณฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดอุทกภัยและดินโคลนถล่มได้