สธ.เผยไทยยังไม่มีการระบาดของไวรัสซิกา ยันตรวจผลแลปสารพันธุกรรม รู้ผลภายใน 8 ชม.

ข่าวทั่วไป Wednesday August 31, 2016 15:36 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นพ.อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงสถานการณ์ข่าวการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสซิกา ที่ล่าสุดเพื่อนบ้าน เช่น ประเทศสิงคโปร์มีรายงานการตรวจพบผู้ติดเชื้อแล้ว 56 ราย สำหรับประเทศไทยยังไม่มีการระบาด ขอประชาชนอย่าตื่นตระหนก โดยกระทรวงสาธารณสุขได้มีมาตรการเฝ้าระวังป้องกันและควบคุมโรคนี้อย่างต่อเนื่อง 4 ด้าน ได้แก่ 1.การเฝ้าระวังทางระบาดวิทยา 2.การเฝ้าระวังทางกีฏวิทยา 3.การเฝ้าระวังทารกแรกเกิดที่มีความพิการแต่กำเนิด และ 4.การเฝ้าระวังกลุ่มอาการทางระบบประสาท รวมทั้งมีการเตรียมความพร้อมทางห้องปฏิบัติการ และความพร้อมด้านการดูแลรักษา ตลอดจนการควบคุมแมลงพาหะนำโรค คือ ยุงลาย ซึ่งเป็นชนิดเดียวกันกับพาหะนำโรคไข้เลือดออก ไข้ปวดข้อยุงลาย ไข้เหลือง และเนื่องจากประเทศไทยอยู่ในเขตร้อน จึงเหมาะสมต่อการขยายพันธุ์ของยุงพาหะและเชื้อไวรัส ประชาชนควรทายาป้องกันยุงกัดตลอดเวลาที่ออกนอกอาคาร หรือเข้าไปในสวนยาง สวนปาล์ม สวนผลไม้

ทั้งนี้ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ให้บริการตรวจวินิจฉัยโรติดเชื้อไวรัสซิกา 2 วิธี คือ 1.การตรวจสารพันธุกรรมไวรัสซิกา ในตัวอย่างเลือด ปัสสาวะ และน้ำลาย ด้วยวิธี Real-time RT-PCR สามารถรู้ผลได้ภายใน 8 ชั่วโมง 2.การตรวจแอนติบอดีชนิด IgM และ IgG ต่อไวรัสซิกา ในตัวอย่างซีรัมด้วยวิธี ELISA หากพบผู้ป่วยสงสัยติดเชื้อไวรัสซิกา สถานพยาบาลทุกระดับสามารถส่งตัวอย่างมาที่สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเปิดรับตัวอย่างทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง ในพื้นที่ต่างจังหวัดสามารถส่งตัวอย่างตรวจได้ที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ทั้ง 14 แห่ง ที่ตั้งกระจายอยู่ตามภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ

อย่างไรก็ตาม วิธีป้องกันโรคติดเชื้อไข้ซิกาที่ดีที่สุด คือประชาชนต้องป้องกันตัวเองไม่ให้ยุงกัด และกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ทั้งในและนอกบ้าน โดยใช้กับดักลีโอแทรป และป้องกันตนเองไม่ให้ยุงกัด โดยสวมเสื้อผ้าให้มิดชิด ทายาป้องกันยุงกัด นอนกางมุ้ง และหลีกเลี่ยงเดินทางไปพื้นที่ที่มีการระบาดของโรค ทั้งนี้หากเดินทางกลับมาจากพื้นที่ที่มีการระบาด แล้วมีอาการออกผื่น มีไข้ ตาแดง ปวดข้อ ปวดศีรษะ โดยอาการจะปรากฏหลังผู้ป่วยได้รับเชื้อภายใน 3-12 วัน ให้รีบไปพบแพทย์ทันทีและแจ้งประวัติการเดินทางให้แพทย์ทราบด้วย เนื่องจากมีรายงานจากประเทศอิตาลีว่าเชื้อไวรัสซิกาสามารถอยู่ในน้ำอสุจิได้นานถึง 6 เดือน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ