กรมป้องกันฯ เตือนปชช.ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา 7 จ.ภาคกลาง เตรียมรับมือสถานการณ์น้ำหลาก

ข่าวทั่วไป Friday September 2, 2016 10:37 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ภาวะฝนตกหนักจากอิทธิพลของร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือ ภาคกลางตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือในช่วงวันที่ 27 - 30 ส.ค.59 ส่งผลให้บริเวณประเทศไทยตอนบนมีฝนตกหนาแน่น ทำให้มีน้ำหลากจากพื้นที่ตอนบนของลุ่มน้ำเจ้าพระยาไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท ในอัตราที่เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด (ณ วันที่ 1 ก.ย.59) มีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา 708 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยกรมชลประทานคาดการณ์ว่าปริมาณน้ำจะมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 900 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งจะส่งผลให้พื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยามีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น ตั้งแต่บริเวณท้ายเขื่อนเจ้าพระยา อ.สรรพยา จ.ชัยนาท ถึงบริเวณ ต.บางหลวงโดด อ.บางบาล และ ต.บ้านกระทุ่ม ต.หัวเวียง อ.เสนา จงพระนครศรีอยุธยา

ดังนั้น เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้น กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้ประสานพื้นที่ 7 จังหวัดภาคกลาง ได้แก่ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี ลพบุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา และสุพรรณบุรี แจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณพื้นที่ลุ่มริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เกษตรกร ผู้ประกอบการร้านค้า เรือโดยสาร ประชาชนที่สัญจรทางน้ำ นักท่องเที่ยว รวมถึงผู้รับเหมาก่อสร้างงานโครงสร้างหรือเขื่อนป้องกันตลิ่งบริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยาให้ติดตามสถานการณ์และประกาศแจ้งเตือนจากหน่วยงานราชการอย่างใกล้ชิด รวมถึงเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำเอ่อล้น โดยจัดเก็บและขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูงให้พ้นจากแนวน้ำท่วม พร้อมเพิ่มความระมัดระวังในการเดินทางสัญจรทางน้ำ

ทั้งนี้ ปภ.ได้สั่งกำชับให้ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดในพื้นที่ประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์ เครื่องจักรกลด้านสาธารณภัย และกำลังเจ้าหน้าที่ อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) และทีมกู้ชีพกู้ภัยประจำตำบลติดตาม เฝ้าระวังสถานการณ์ และเตรียมความพร้อมปฏิบัติการให้ความช่วยเหลือประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง รวมถึงจัดวางแนวกระสอบทรายและติดตั้งเครื่องสูบน้ำป้องกันพื้นที่เศรษฐกิจของจังหวัดได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำเอ่อล้นท่วมพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ