นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังประชุมศูนย์ปฏิบัติการในภาวะฉุกเฉิน กระทรวงสาธารณสุขถึงความกังวลเกี่ยวกับโรคไข้ซิกานั้นว่า ขอให้ประชาชนมั่นใจในมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งได้ดำเนินการเฝ้าระวัง ป้องกันควบคุมโรคอย่างเข้มแข็ง ร่วมกับฝ่ายปกครอง และทหาร มีห้องปฏิบัติการของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ในภูมิภาคอีก 8 แห่ง สามารถตรวจวินิจฉัยเชื้อทราบผลภายใน 1 วัน และมีทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็วลงพื้นที่ทันทีที่พบผู้ป่วย ทำให้สามารถจำกัดการแพร่กระจายเชื้อ ไม่ให้มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้น
"ขอย้ำว่า ผู้ป่วยโรคนี้ส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรง ที่พบบ่อยคือ มีไข้ ออกผื่น ตาแดง ปวดข้อ อาการเหล่านี้ทุเลาลงได้เองภายในเวลา 2-7 วัน หากอาการไม่ดีขึ้นขอให้ไปพบแพทย์" รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขกล่าว
พร้อมระบุว่า ขอให้ประชาชนป้องกันตนเองไม่ให้ยุงกัด โดยทายากันยุง สวมเสื้อผ้าเนื้อหนาสีอ่อนๆ ปกคลุมผิวหนังและร่างกาย อยู่ในบ้านที่มีมุ้งลวดหรือนอนในมุ้ง ในหญิงตั้งครรภ์แนะนำให้ทายากันยุงที่ทำจากสมุนไพร เช่น ตะไคร้หอม ส่วนหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อนั้น ทารกที่คลอดไม่ได้มีศีรษะเล็กแต่กำเนิดทุกราย จึงไม่ควรกังวลมากเกินไป อย่างไรก็ตาม ควรรีบไปพบแพทย์ทันที เพื่อรับการดูแลติดตามการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์อย่างใกล้ชิด
นพ.สุวรรณชัย กล่าวอีกว่า ขณะนี้เป็นช่วงฤดูฝนทำให้จำนวนยุงเพิ่มมากขึ้น ข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยา พบว่าผู้ป่วยไข้เลือดออกมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ตั้งแต่ต้นปีจนถึง 30 สิงหาคม 2559 พบผู้ป่วยแล้ว 35,872 ราย เสียชีวิต 28 ราย โดยภาคเหนือและภาคใต้มีอัตราป่วยสูง
ทั้งนี้ ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขทุกจังหวัด ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หมออนามัย อาสาสมัครสาธารณสุข และประชาชนในพื้นที่ เพื่อร่วมกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย ตัดวงจรชีวิตยุงลาย ตามมาตรการ 3 เก็บ "เก็บบ้าน เก็บขยะ เก็บน้ำ" และ 5 ส. ป้องกัน 3 โรค คือไข้เลือดออก ไข้ซิกา และไข้ปวดข้อยุงลาย ขอให้สำรวจทุกจุดที่มีน้ำขัง เช่น ถังเก็บน้ำ, ตุ่มน้ำ, แจกัน, อ่างบัว, จานรองกระถางต้นไม้ จานรองขาตู้ ทั้งในบ้าน บริเวณบ้าน สถานที่ทำงาน ที่สาธารณะต่างๆ ทำต่อเนื่องทุก 7 วัน