รมว.เกษตรฯ เผยยึดที่ส.ป.ก.คืนได้แล้วกว่า 1.1 แสนไร่ ยันเร่งตรวจสอบหลักฐานผู้ยื่นคัดค้านภายในก.ย.นี้

ข่าวทั่วไป Wednesday September 7, 2016 14:24 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นำโดยสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรรม (ส.ป.ก.) ได้ดำเนินการตาม ม.44 ยึดคืนที่ดิน ส.ป.ก. ที่มีการครอบครองพื้นที่มากกว่า 500 ไร่ โดยมิชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งปิดประกาศไปแล้วทั้งหมด 431 แปลง ใน 27 จังหวัด เนื้อที่ 437,156.081 ไร่ โดยเนื้อที่ที่สามารถยึดคืนได้ตั้งแต่ครั้งแรก คือ 100,149 ไร่ (มีผู้คัดค้าน 28 แปลง 27,874 ไร่ + เหลือจากผู้คัดค้านบางส่วน 72,275 ไร่) ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนของการตรวจสอบหลักฐานการยื่นคัดค้าน จึงได้เร่งการตรวจสอบเอกสารที่ยื่นคัดค้านอย่างใกล้ชิด

ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้ พล.อ.ปัฐมพงศ์ ประถมภัฏ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มาเป็นที่ปรึกษาแก่คณะทำงานของ ส.ป.ก. ในการติดตามผลการดำเนินงาน และนายธนู มีแสงเงิน ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงาน อาทิ แปลงสวนส้ม จ.เชียงใหม่, สนามกอล์ฟไมด้า จ.กาญจนบุรี เป็นต้น ซึ่งขั้นตอนการตรวจสอบเอกสารคัดค้านดังกล่าวจะครบกำหนดภายในกลางเดือนกันยายนนี้

ด้านนายธนู มีแสงเงิน ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ผลการดำเนินงานตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 36/2559 ณ วันที่ 7 กันยายน 2559 ว่ามีจำนวนผู้ยื่นคัดค้านทั้งสิ้น 403 แปลง (เนื้อที่เต็มแปลง 413,180 ไร่) มีผู้คัดค้าน 15,022 ราย คัดค้านเป็นเนื้อที่ 362,866 ไร่ จากการตรวจสอบของ ส.ป.ก. พบว่า ผู้คัดค้านยื่นหลักฐานตามประมวลกฎหมายที่ดิน/กฎหมายอื่น จำนวน 127,172 ไร่ และยื่นหลักฐานการครอบครองเดิม จำนวน 235,694 ไร่ ขณะนี้ตรวจสอบเสร็จแล้วกว่า 58% จำนวนกว่า 225,733 ไร่ มีหลักฐานที่ตรวจสอบแล้วฟังขึ้น (มีเอกสารจริง) 177,531 ไร่ และหลักฐานที่ตรวจสอบแล้วฟังไม่ขึ้น (ไม่มีเอกสารจริง หรือ เอกสารใช้ไม่ได้) 11,418 ไร่ ถอนคำคัดค้าน (เอกสารไม่ตรงกับพื้นที่เป้าหมาย) 23,279 ไร่ จนถึงขณะนี้ ส.ป.ก. จะมีเนื้อที่ที่ยึดคืนเพิ่มขึ้น เป็นจำนวน 111,567 ไร่ (ข้อมูล ณ 6 กันยายน 2559)

สำหรับในระยะต่อไป ได้วางแผนไว้ 2 แนวทาง ได้แก่ 1. การดำเนินการในพื้นที่ที่ได้พื้นที่คืนมาทั้งแปลง และ 2. การดำเนินการในพื้นที่ผืนใหญ่ที่มีทั้งผู้คัดค้านและไม่คัดค้าน ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะได้นำเรียนนายกรัฐมนตรีเพื่อของบประมาณในการพัฒนาพื้นที่เพื่อให้ประชาชนได้เข้าไปใช้ประโยชน์ได้ทั้งหมด

ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ จะได้นำแผนที่ Agri-Map มาใช้ในการกำหนดพื้นที่การทำเกษตรกรรมที่เหมาะสมกับพื้นที่ และดำเนินการในรูปแบบแปลงใหญ่ โดยมีระบบสหกรณ์เข้าไปดูแล เพื่อให้เกษตรกรเกิดความเข้มแข็ง และสามารถได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐได้อย่างเต็มที่


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ