กรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศ เรื่อง"พายุ“ราอี"(Rai)" ระบุว่า เมื่อเวลา 04.00 น.ของวันนี้ (14 ก.ย. 59 ) พายุดีเปรสชั่น“ราอี" (Rai) ที่เคลื่อนผ่านจังหวัดอุบลราชธานี และอำนาจเจริญได้อ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงปกคลุมบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลางแล้ว และคาดว่าจะเคลื่อนไปปกคลุมภาคกลางตอนบน และภาคเหนือ ตามลำดับต่อไป
ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณจังหวัดเลย หนองคาย บึงกาฬ หนองบัวลำภู อุดรธานี สกลนคร นครพนม กาฬสินธุ์ ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ชัยภูมิ บุรีรัมย์ นครราชสีมา นครสวรรค์ สระบุรี ลพบุรี ชัยนาท อุทัยธานี เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา น่าน แพร่ ลำพูน ลำปาง อุตรดิตถ์ สุโขทัย พิษณุโลก ตาก พิจิตร และ เพชรบูรณ์ มีฝนตกเป็นบริเวณกว้างและมีฝนตกหนักถึงหนักมากหลายพื้นที่ ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระมัดระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสมไว้ด้วย
สำหรับบริเวณจังหวัดมุกดาหาร ยโสธร ศรีสะเกษ สุรินทร์อำนาจเจริญ อุบลราชธานี จะมีฝนลดลง
ส่วนคลื่นลมบริเวณอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีกำลังแรง โดยมีคลื่นสูง 2-3 เมตร ขอให้ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวัง เรือเล็กควรงดออกจากฝั่งจนถึงวันที่ 19 กันยายน 2559 ไว้ด้วย และติดตามข่าวพยากรณ์อากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิดต่อไป
ด้านกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้ประสาน 32 จังหวัด แยกเป็น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 14 จังหวัด ได้แก่ เลย หนองคาย บึงกาฬ หนองบัวลำภู อุดรธานี สกลนคร นครพนม กาฬสินธุ์ ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และนครราชสีมา
ภาคกลาง 5 จังหวัด ได้แก่ นครสวรรค์ สระบุรี ลพบุรี ชัยนาท และอุทัยธานี ภาคเหนือ 13 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา น่าน แพร่ ลำพูน ลำปาง อุตรดิตถ์ สุโขทัย พิษณุโลก ตาก พิจิตร และเพชรบูรณ์ รวมถึงศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่เสี่ยงภัย เตรียมพร้อมรับมืออุทกภัย น้ำป่าไหลหลาก และดินถล่ม โดยจัดเจ้าหน้าที่และมิสเตอร์เตือนภัยติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง เพิ่มความถี่ในการตรวจวัดปริมาณน้ำฝนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะบริเวณที่มีปริมาณฝนสะสมอยู่แล้ว รวมถึงจัดเตรียมสรรพกำลังเครื่องมืออุปกรณ์ประจำพื้นที่เสี่ยง อาทิ คอสะพาน เส้นทางน้ำไหลผ่าน ที่ลาดเชิงเขา เพื่อให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุ แก้ไขปัญหา และช่วยเหลือผู้ประสบภัยทันทีที่เกิดภัย ตลอดจนกำหนดพื้นที่รองรับน้ำและเก็บกักน้ำ และวางแผนพร่องน้ำ ผันน้ำ และระบายน้ำออกจากพื้นที่ประสบภัยซ้ำซาก โดยเฉพาะพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญ โดยบูรณาการแผนการระบายน้ำในเชิงลุ่มน้ำอย่างเป็นระบบ เพื่อป้องกันและลดผลกระทบจากอุทกภัย กรณีสถานการณ์รุนแรงให้ดำเนินการตามขั้นตอนของแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด เพื่อประสานให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างทันท่วงที