ดุสิตโพลเผยปชช.หนุน กกต.แจกใบเหลือง-ส้ม-แดง-ดำ เชื่อปราบโกงเลือกตั้งได้

ข่าวทั่วไป Saturday September 17, 2016 12:10 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,143 คน ระหว่างวันที่ 13-16 ก.ย. 59 จากกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เสนอร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ฉบับปรับปรุงตามร่างรัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามติ โดยมีการบัญญัติการลงโทษรูปแบบต่างๆ ซึ่งมีการแบ่งโทษความผิดไว้ 4 ระดับ คือ ใบเหลือง ใบส้ม ใบแดง และใบดำเพื่อแก้ปัญหาการทุจริตการเลือกตั้ง เพื่อเป็นการสะท้อนความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อกรณีดังกล่าว โดยจากการสำรวจสรุปผลได้ดังนี้

ประชาชนคิดอย่างไรกับการที่กกต.บัญญัติการลงโทษตามความผิด 4 ระดับ คือ ใบเหลือง ใบส้ม ใบแดง และใบดำ เพื่อแก้ปัญหาการทุจริตการเลือกตั้ง

อันดับ 1 เป็นมาตรการที่ดี น่าจะช่วยแก้ปัญหาการทุจริตให้ลดลงได้ 74.80% อันดับ 2 ผู้สมัครทุกคนต้องปฏิบัติตามกฎ ระเบียบ อย่างเคร่งครัด มีจิตสำนึกรู้ผิดชอบชั่วดี 69.29% อันดับ 3 ทาง กกต. ควรชี้แจงทำความเข้าใจกับผู้สมัครให้ชัดเจน 62.99% อันดับ 4 ควรหาวิธีอื่น หรือมี 2 ใบเหมือนเดิม แต่ต้องครอบคลุมทุกการกระทำผิด 54.07% และอันดับ 5 กังวลว่าจะไม่เป็นธรรม อำนาจในการพิจารณาตัดสินใจขึ้นอยู่กับ กกต. ฝ่ายเดียว 53.81%

ขณะที่ประชาชน 81.10% เห็นด้วยกับวิธีการลงโทษตามที่ กกต. เสนอ กรณีใบเหลือง แจกให้ก่อนหรือในวันเลือกตั้ง เพราะเป็นขั้นตอนแรกในการป้องกันการทุจริต ไม่ให้ผู้กระทำผิดได้ลงสมัคร ช่วยคัดกรองได้ในระดับหนึ่ง ส่วนรองลงมา 11.55% ไม่แน่ใจ เพราะการพิจารณาตัดสินต้องใช้ระยะเวลา ต้องมีความละเอียดรอบคอบ ปัญหาการทุจริตแก้ไขได้ยาก และ 7.35% ไม่เห็นด้วย เพราะทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณ กระทบต่อการจัดการเลือกตั้ง อาจก่อให้เกิดความขัดแย้ง ไม่พอใจ

สำหรับใบส้ม แจกให้หลังวันเลือกตั้ง ประชาชนเห็นด้วย 79.79% เพราะผู้สมัครมีความระมัดระวังและปฏิบัติตามกฎระเบียบมากขึ้น เป็นแบบอย่างให้กับผู้อื่น ถ้ามีหลักฐานชัดเจนควรตัดสิทธิทันที ส่วน 10.76% ไม่เห็นด้วย เพราะควรมีเพียง 2 ใบ การมีหลายใบทำให้เกิดความซ้ำซ้อน อาจเป็นการใช้อำนาจมากเกินไป และ 9.45% ไม่แน่ใจ เพราะยังไม่เคยมีมาก่อน ไม่แน่ใจว่าผลที่ตามมาจะเป็นอย่างไร ไม่ทราบรายละเอียดชัดเจน

ในส่วนของใบแดง แจกให้หลังประกาศผลเลือกตั้ง ประชาชนเห็นด้วยมากที่สุดที่ 76.90% เพราะเป็นการลงโทษที่รุนแรง จะได้คัดคนไม่ดีออกไป ผู้กระทำผิดจะได้เกรงกลัว ช่วยป้องกันการทุจริตได้ รองลงมา 14.70% ไม่แน่ใจ เพราะปัญหาการทุจริตไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะวันเลือกตั้ง ต้องพิจารณารายละเอียดการกระทำผิดให้ชัดเจนก่อน ยังไม่รู้รายละเอียดของการให้ใบแดง และ 8.40% ไม่เห็นด้วย เพราะควรให้เป็นหน้าที่ของศาล และให้กฎหมายตัดสิน กกต. อาจพิจารณาได้ล่าช้า หากมีการกระทำผิดก็ควรตัดสินตั้งแต่วันเลือกตั้ง การเลือกตั้งใหม่เป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณ

สุดท้ายใบดำ แจกให้กรณีที่ศาลฎีกามีคำพิพากษาเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ประชาชน 87.40% เห็นด้วย เพราะเป็นการลงโทษขั้นเด็ดขาด เป็นการขุดรากถอนโคน บทลงโทษรุนแรงเหมาะสมดี จะได้เกรงกลัว ไม่กล้ากระทำผิด ทำให้การเลือกตั้งมีความโปร่งใสมากขึ้น ขณะ 8.92% ไม่แน่ใจ เพราะควรพิจารณาเป็นรายกรณี ที่ผ่านมามีการวิพากษ์วิจารณ์การตัดสินของ กกต. บ่อยครั้ง ไม่น่าจะช่วยแก้ปัญหาการทุจริตได้ ส่วน 3.68% ไม่เห็นด้วย เพราะควรลงโทษด้วยวิธีการอื่น บทลงโทษหนักเกินไป ขั้นตอนการพิจารณาความผิดอาจไม่โปร่งใส ไม่เป็นมาตรฐานเดียวกัน อาจตัดสินคนผิดได้

อย่างไรก็ตาม เมื่อถามว่าวิธีการตามที่ กกต. เสนอจะช่วยแก้ปัญหาการทุจริตการเลือกตั้งได้หรือไม่ อันดับ 1 ประชาชน 68.50% มองว่าช่วยได้ เพราะเป็นการป้องกันการทุจริต น่าจะช่วยแก้ปัญหาให้ลดลงได้ในระดับหนึ่ง เป็นบทลงโทษที่รุนแรง ทำให้ผู้ที่คิดจะทุจริตเกิดความเกรงกลัว ไม่กล้ากระทำผิด รองลงมา 22.83% ไม่แน่ใจ เพราะที่ผ่านมาถึงแม้จะมีมาตรการป้องกัน แต่ก็ยังมีการทุจริต การเลือกตั้งเป็นเรื่องของผลประโยชน์ ยังไม่รู้รายละเอียดว่ามีขั้นตอนการพิจารณาตัดสินอย่างไร และสุดท้าย 8.67% มีความเห็นว่าช่วยไม่ได้ เพราะเป็นปัญหาที่มีมานาน แก้ไขได้ยาก กกต.อาจดูแลไม่ทั่วถึง เกิดความยุ่งยาก ควรแก้ที่ต้นเหตุ ขึ้นอยู่กับจิตสำนึกของนักการเมือง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ