นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ภาวะฝนตกหนักในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้เกิดน้ำไหลหลากและดินสไลด์ใน 8 จังหวัด รวม 21 อำเภอ 63 ตำบล แยกเป็น 1.ชัยภูมิ น้ำไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่อำเภอจัตุรัส ประชาชนได้รับผลกระทบ 400 ครัวเรือน 2.พังงา น้ำไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ 3 อำเภอ 8 ตำบล ได้แก่ อำเภอคุระบุรี อำเภอกะปง อำเภอตะกั่วป่า ประชาชนได้รับผลกระทบ 333 ครัวเรือน 3.กำแพงเพชร น้ำไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอปางศิลาทอง อำเภอขาณุวรลักษบุรี และอำเภอคลองขลุง 4.เพชรบูรณ์ น้ำในแม่น้ำป่าสักเอ่อเข้าท่วมพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ และอำเภอหนองไผ่
5.สุโขทัย น้ำจากแม่น้ำยมล้นตลิ่งไหลเข้าท่วมพื้นที่ 5 อำเภอ 21 ตำบล 141 หมู่บ้าน 14 ชุมชน ได้แก่ อำเภอเมืองสุโขทัย อำเภอสวรรคโลก อำเภอศรีสำโรง อำเภอกงไกรลาศ และอำเภอบ้านด่านลานหอย ประชาชนได้รับผลกระทบ 4,618 ครัวเรือน ถนน 25 สาย ตลิ่ง 4 แห่ง พื้นที่การเกษตร 40,703 ไร่ 6.หนองบัวลำภู น้ำเอ่อล้นเข้าท่วมพื้นที่อำเภอศรีบุญเรือง และอำเภอเมืองหนองบัวลำภู ประชาชนได้รับผลกระทบ 3 ครัวเรือน นาข้าวเสียหาย 200 ไร่ 7.พระนครศรีอยุธยา น้ำล้นตลิ่งจากการระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาเข้าท่วมพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเสนา อำเภอบางบาล และอำเภอพระนครศรีอยุธยา ประชาชนได้รับผลกระทบ 1,813 ครัวเรือน และ 8.กาญจนบุรี น้ำป่าไหลหลากและน้ำระบายไม่ทันท่วมพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองกาญจนบุรี และอำเภอมะขามเตี้ย ประชาชนได้รับผลกระทบ 134 ครัวเรือน
"ปัจจุบันสถานการณ์ในภาพรวมทั้ง 8 จังหวัด ระดับน้ำลดลง แต่ยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำทางการเกษตร ทั้งนี้ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดที่ประสบภัย ได้ร่วมกับหน่วยทหารและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสำรวจความเสียหายและให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยในเบื้องต้นแล้ว"อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กล่าว
อย่างไรก็ตาม จากการติดตามสภาพอากาศกับกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ทำให้บริเวณภาคใต้มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ประกอบกับบางพื้นที่มีปริมาณน้ำฝนสะสมเพิ่มขึ้น ทำให้ชั้นดินอุ้มน้ำไว้มาก อาจทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลากและดินถล่มได้ ปภ. จึงได้ประสาน 3 จังหวัด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี พังงา และนครศรีธรรมราช และศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่เสี่ยงภัย จัดเจ้าหน้าที่และมิสเตอร์เตือนภัยติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง เพิ่มความถี่ในการตรวจวัดปริมาณน้ำฝนอย่างต่อเนื่อง รวมถึงจัดเตรียมสรรพกำลัง เครื่องมืออุปกรณ์ประจำพื้นที่เสี่ยงให้พร้อมปฏิบัติการ เผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทันทีที่เกิดภัย
สำหรับประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัย ที่ราบเชิงเขา ใกล้ทางน้ำไหลผ่าน ขอให้ติดตามพยากรณ์อากาศและประกาศเตือนภัยอย่างใกล้ชิด หมั่นสังเกตความผิดปกติของธรรมชาติที่เป็นสัญญาณเตือนก่อนเกิดดินถล่ม เพื่อเตรียมการอพยพได้อย่างทันท่วงที
"หากประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ภัย สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป"นายฉัตรชัย กล่าว