นิด้าโพลมองการแต่งตั้งข้าราชการไม่ค่อยเป็นธรรม-ใช้ระบบอุปถัมภ์-เส้นสาย

ข่าวทั่วไป Sunday September 25, 2016 09:31 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล" สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ" ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 20–21 ก.ย. 2559 จากประชาชนที่เป็นข้าราชการประจำและพนักงานรัฐวิสาหกิจ ที่มีอายุ 18 ปี ขึ้นไปทั่วประเทศ กระจายทุกระดับการศึกษา รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,250 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดในการพิจารณาการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ และความเป็นธรรมการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ

จากการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดในการพิจารณาการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ พบว่า ประชาชน ร้อยละ 29.04 ระบุว่า ความสามารถและประสบการณ์ที่เหมาะสมกับตำแหน่งใหม่ รองลงมา ร้อยละ 25.68 ระบุว่า ความสามารถและผลงานที่ผ่านมา ร้อยละ 17.68 ระบุว่า ความอาวุโสในตำแหน่ง ร้อยละ 9.36 ระบุว่า ความรู้ (เช่นระดับการศึกษา การเข้ารับการอบรมในหลักสูตรต่าง ๆ เป็นต้น) ร้อยละ 5.84 ระบุว่า เป็นวิสัยทัศน์ในการทำงานตำแหน่งใหม่ ร้อยละ 5.36 ระบุว่า ระเบียบ วินัยและความประพฤติที่ผ่านมา ร้อยละ 5.44 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ การมีคุณสมบัติหลาย ๆ อย่างประกอบกันที่ดูจากความเหมาะสมและความสามารถในการทำงาน มีวัยวุฒิ คุณวุฒิ หน้าที่และความผิดชอบ และบางส่วนระบุว่า การใช้เส้นสายว่าของบุคคลผู้พิจารณาเอาพรรคพวกเดียวกัน ที่ใครเข้าถึงหัวหน้ามากกว่าก็จะได้ และร้อยละ 1.60 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

ส่วนความคิดเห็นต่อความเป็นธรรมในการพิจารณาการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ จากประสบการณ์ที่ผ่านมา พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 39.92 ระบุว่า ไม่ค่อยมีความเป็นธรรม รองลงมา ร้อยละ 34.00 ระบุว่า ค่อนข้างมีความเป็นธรรม ร้อยละ 11.04 ระบุว่า ไม่มีความเป็นธรรมเลย ร้อยละ 10.56 ระบุว่า มีความเป็นธรรมมาก และร้อยละ 4.48 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

สำหรับความคิดเห็นต่อการใช้ระบบอุปถัมภ์หรือเส้นสายในการพิจารณาการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการในหน่วยงาน พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 35.68 ระบุว่า มีการใช้ระบบอุปถัมภ์หรือเส้นสายค่อนข้างบ่อย รองลงมา ร้อยละ 22.56 ระบุว่า ไม่ค่อยมีการใช้ระบบอุปถัมภ์หรือเส้นสาย ร้อยละ 22.00 ระบุว่า ไม่มีการใช้ระบบอุปถัมภ์หรือเส้นสายเลย ร้อยละ 15.60 ระบุว่า มีการใช้ระบบอุปถัมภ์หรือเส้นสายอย่างมาก และร้อยละ 4.16 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

ความคิดเห็นต่อการใช้ระบบแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ในการพิจารณาการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 40.16 ระบุว่า ไม่มีการใช้ระบบแลกเปลี่ยนผลประโยชน์เลย รองลงมา ร้อยละ 21.76 ระบุว่า ไม่ค่อยมีการใช้ระบบแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ ร้อยละ 19.92 ระบุว่ามีการใช้ระบบแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ค่อนข้างบ่อย ร้อยละ 8.32 ระบุว่า มีการใช้ระบบแลกเปลี่ยนผลประโยชน์เป็นประจำ และร้อยละ 9.84 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

ท้ายที่สุด เมื่อถามถึงความคิดเห็นต่อการดำเนินการต่าง ๆ หากไม่ได้รับความเป็นธรรมในการพิจารณาการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 45.76 ระบุว่า จะใช้วิธีการอุทธรณ์ร้องไปตามขั้นตอนของระเบียบข้าราชการ รองลงมา ร้อยละ 28.56 ระบุว่า ไม่ทำอะไรเลย เพราะทำอะไรไม่ได้เลย เป็นกฎระเบียบซึ่งลูกน้องต้องทำตามสั่งผู้บังคับบัญชา ต้องยอมรับการเปลี่ยนแปลง ร้อยละ 12.24 ระบุว่า ฟ้องศาลปกครองทันที ร้อยละ 2.72 ระบุว่า ลาออก ร้อยละ 2.48 ระบุว่า ใช้ Social Network เป็นเครื่องมือในการเรียกร้องขอความเป็นธรรม ร้อยละ 1.60 ระบุว่า ฟ้องสื่อมวลชน ร้อยละ 1.04 ระบุว่า พยายามหาเส้นสายที่ใหญ่กว่าไปกดดันให้มีการเปลี่ยนแปลง ร้อยละ 2.24 ระบุอื่นๆ ได้แก่ พิจารณาตนเองและปรึกษาหารือกับผู้ใหญ่ ขณะที่บางส่วนระบุว่าฟ้องร้องสหภาพแรงงาน และฟ้องศูนย์ดำรงธรรม และร้อยละ 3.36 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ ขอดูที่สาเหตุและความรุนแรงก่อน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ