นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และสหกรณ์ เปิดเผยในพิธีปิดตลาดเกษตรดิจิทัล ซึ่งจัดโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ระหว่างวันที่ 5-25 กันยายน 2559 ว่า การจัดตลาดเกษตรดิจิทัลในครั้งนี้ เป็นการบูรณาการระหว่าง 2 กระทรวง คือกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ภายใต้แนวคิด“เทคโนโลยีดิจิทัลก้าวไกล การเกษตรไทยก้าวหน้า"ณ ตลาดคลองผดุงกรุงเกษม โดยที่การจัดงานในครั้งนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้นำผลผลิตที่เกิดจากการสนับสนุนและแนะนำส่งเสริมของหน่วยงานต่างๆ ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มาแสดงและจำหน่าย ภายใต้นโยบายในการปฏิรูปภาคการเกษตรทั้งระบบเพื่อให้เกษตรกรสามารถผลิตสินค้าที่มีคุณภาพมาตรฐาน ลดต้นทุนการผลิต พัฒนาเกษตรกรให้ได้เรียนรู้ถึงความต้องการของผู้บริโภคในการใช้การตลาดนำการผลิต ถือเป็นการเพิ่มโอกาสทางการแข่งขันให้แก่สินค้าเกษตรของไทยต่อไปในอนาคต
นอกจากนี้ ภายในงานก็ได้จัดให้มี โซนเกษตรดิจิทัล เพื่อจำหน่ายสินค้าแบบออนไลน์ขององค์การตลาดเพื่อเกษตรกร หรือ อ.ต.ก. ผ่านเว็บไซด์ ortorkor.com.(อตก.ดอทคอม) และจำหน่ายสินค้าจากชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด (ชสท.) ผ่านเว็บไซด์ co-opclick.com.(โคออปคลิก ดอท คอม) ซึ่งมาจากกลุ่มสหกรณ์ทุกจังหวัดที่รวมตัวกันอย่างเข้มแข็ง และมีจุดกระจายสินค้าอยู่ทั่วประเทศ รวมทั้ง แสดงสินค้าตรวจสอบย้อนกลับโดยใช้ระบบ.QR.Code.จากองค์การสะพานปลา และสินค้าตามการรับรองมาตรฐานของสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.).พร้อมทั้งกิจกรรมต่างๆ สำหรับให้ผู้มาร่วมงานได้เข้าร่วมกิจกรรม อาทิ กิจกรรมการประกวดปลากัด กิจกรรมการสาธิตทางการเกษตรต่างๆ กิจกรรมส่งเสริมการขาย กิจกรรมบันเทิง และการแสดงบนเวที
นอกจากนี้ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ยังได้แถลงถึงผลของการจัดงานว่า ประสบความสำเร็จอย่างสูงมาก ถือว่าเกินกว่าที่คาดไว้ และบรรลุวัตถุประสงค์อย่างดียิ่ง โดยได้รับความสนใจจากประชาชนทั่วไปเข้าชมและซื้อสินค้าเป็นจำนวนมาก เห็นได้จากการที่มีผู้เข้าร่วมชมงานตั้งแต่วันที่ 5 กันยายน จนถึงวันที่ 25 กันยายน 2559 กว่า 10,500 คน และมียอดจำหน่ายกว่า 40 ล้านบาท นับได้ว่าเป็นการสร้างรายได้และเพิ่มโอกาสทางการตลาดให้แก่เกษตรกร เกิดการเชื่อมโยงเครือข่ายการผลิต การตลาด ได้มีพื้นที่สำหรับนำเสนอสินค้าดี มีคุณภาพและสามารถจำหน่ายถึงมือผู้บริโภคโดยตรง ในราคายุติธรรม อันจะส่งผลให้กลุ่มเกษตรกร/สหกรณ์ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และมีความเป็นอยู่ที่มั่นคงและยั่งยืน