นายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน ชี้แจงว่า การบริหารจัดการน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาในช่วงที่มีปริมาณน้ำจำนวนมากไหลหลากลงสู่พื้นที่ตอนล่างนั้น ได้ปฏิบัติตามแนวทางในการบริหารจัดการน้ำอย่างเหมาะสมที่สุดแล้ว ซึ่งการระบายน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาในช่วงที่มีน้ำมาก การระบายน้ำทางตรงออกสู่อ่าวไทยเป็นแนวทางที่ดีที่สุด โดยดำเนินการควบคู่ไปกับการตัดยอดน้ำบริเวณเหนือเขื่อนเจ้าพระยาเข้าสู่ระบบชลประทานทั้งฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ตามศักยภาพที่สามารถรับน้ำได้ของแต่ละฝั่ง
ทั้งนี้ พบว่าปัจจุบันมีปริมาณน้ำท่าในพื้นที่ฝั่งตะวันตกที่เกิดจากฝนตกหนักไหลลงสู่แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำน้อยจำนวนมาก ส่วนในพื้นที่ฝั่งตะวันออกที่ใช้คลองชัยนาท-ป่าสักในการช่วยรับน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาไปลงแม่น้ำป่าสักมีข้อจำกัด เนื่องจากในพื้นที่จังหวัดลพบุรีเองมีฝนตกหนักและมีน้ำท่าไหลลงสู่คลองชัยนาท-ป่าสักค่อนข้างมาก ตลอดจนทั้งสองฝั่งยังมีพื้นที่การเกษตรที่กำลังรอการเก็บเกี่ยว ทำให้ไม่สามารถรับน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาเข้าไปเพิ่มได้
สำหรับสถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นในพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำเจ้าพระยานั้น เป็นพื้นที่ที่อยู่นอกคันกั้นน้ำและมีน้ำเอ่อเข้าท่วมเป็นประจำแทบทุกปี ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เหล่านี้ได้มีการปรับตัว และดำเนินวิถีชีวิตแบบคนริมน้ำมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายายแล้ว เพียงแต่ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแจ้งเตือนสถานการณ์น้ำเพื่อให้สามารถเตรียมการรับมือกับสถานการณ์ได้อย่างทันท่วงที ซึ่งกรมชลประทานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในจังหวัดต่างๆริมแม่น้ำเจ้าพระยา ได้ทำการแจ้งเตือนและประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วม ได้รับทราบข้อมูลสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่องไม่เคยขาดตลอดในช่วงฤดูฝนของทุกปี
ส่วนสาเหตุที่กรมชลฯไม่เอาน้ำที่ไหลหลากในแม่น้ำเจ้าพระยาไปเก็บไว้ในทุ่งหรือแก้มลิงธรรมชาติในเขตจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เนื่องจากปัจจุบันยังมีเกษตรกรบางส่วนที่ยังไม่ได้เก็บเกี่ยว ได้ร้องขอให้กรมชลประทาน ไม่ให้เอาน้ำเข้าพื้นที่แก้มลิงหรือทุ่งรับน้ำในขณะนี้ โดยขอให้รอจนกว่าจะเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วเสร็จภายในสิ้นเดือนกันยายน จึงยินยอมให้เอาน้ำเข้าไปเก็บไว้ได้
อีกทั้งปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาปัจจุบันถือว่าเป็นปีน้ำปกติ และมีผลกระทบเฉพาะพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำนอกคันกั้นน้ำ ซึ่งประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เหล่านี้ได้มีการปรับตัวดำเนินวิถีชีวิตแบบคนริมน้ำมานานแล้ว
อย่างไรก็ตาม ในช่วงต้นเดือนตุลาคมกรมอุตุนิยมวิทยาได้คาดไว้ว่า จะเกิดฝนตกหนักอีกครั้ง โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคกลาง ซึ่งจะทำให้เกิดปริมาณน้ำท่าจำนวนมากไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ประกอบกับพฤติกรรมของแม่น้ำเจ้าพระยาในช่วงเดือนตุลาคมจะเป็นช่วงที่มีปริมาณน้ำจำนวนมาก การใช้แก้มลิงหรือทุ่งต่างๆ รองรับน้ำในช่วงเวลาดังกล่าวจึงเหมาะสมที่สุด เพราะจะช่วยลดผลกระทบต่อพื้นที่น้ำท่วมได้เป็นอย่างดี แต่หากมีการนำน้ำเข้าไปเก็บกักไว้ในแก้มลิงก่อนหน้านี้ เมื่อมีฝนตกหนักปริมาณน้ำท่ามากขึ้น จะส่งผลให้ไม่มีพื้นรองรับน้ำได้อย่างเพียงพอ และจะทำให้เกิดน้ำท่วมเป็นบริเวณกว้างได้
"ขอย้ำว่า กรมชลประทานจะทำหน้าที่ในการบริหารจัดการน้ำให้ดีที่สุด ตามศักยภาพของพื้นที่รับน้ำและระบบระบายน้ำที่มีอยู่ โดยให้เกิดผลกระทบต่อพื้นที่ให้น้อยที่สุด ซึ่งที่ผ่านมา กรมชลประทานได้มีการแจ้งเตือนสถานการณ์น้ำไปยังจังหวัดต่างๆริมแม่น้ำเจ้าพระยา ให้ทราบข้อมูลและแนวทางในการจัดการน้ำของกรมชลประทานอย่างต่อเนื่องไม่เคยขาด เพื่อให้ประชาชนสามารถเตรียมการรับมือได้อย่างทันท่วงที"นายทองเปลว กล่าว