นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กล่าวว่า จากการตรวจสอบสภาพอากาศกับกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า ระยะครึ่งแรกของเดือนตุลาคม 2559 จะเกิดฝนฟ้าคะนองกับมีฝนตกหนักบางพื้นที่ทั่วทุกภาคของประเทศ รัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ จึงได้สั่งการให้กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยบูรณาการจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดตั้งกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาปัญหาอุทกภัยจังหวัด เพื่อทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการบัญชาการและบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แก้ไขปัญหาอุทกภัย โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ลงพื้นที่ตรวจสอบสถานการณ์น้ำและรับฟังปัญหาจากประชาชน เพื่ออำนวยการแก้ไขปัญหาในระดับพื้นที่
สำหรับการบริหารจัดการน้ำ ให้ประสานหน่วยงานชลประทานและอุตุนิยมวิทยาในพื้นที่ ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำ โดยเฉพาะการเปิดปิดประตูระบายน้ำบริเวณเขื่อนชัยนาทและเขื่อนเจ้าพระยาให้ สอดคล้องกับอัตราความเร็วในการไหลของน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาจากภาคเหนือและ ปริมาณน้ำจากฝนที่ตกในพื้นที่แล้วไหลมาสมทบ (Side flow) รวมกันในแม่น้ำเจ้าพระยา ส่งผลให้ปริมาณน้ำเพิ่มสูงขึ้น พร้อมให้ความสำคัญกับการกักเก็บน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งควบคู่กันไปด้วย โดยใช้เครื่องสูบน้ำ ระหัดวิดน้ำ ทำลำรางดึงน้ำที่ท่วมขังไปกักเก็บไว้ในบ่อ บึง อ่างน้ำ หรือแหล่งน้ำสาธารณะในพื้นที่ก่อนเป็นลำดับแรก พร้อมจัดทำเหมือง ฝายกั้นน้ำ เขื่อนยาง ฝายยาง สระน้ำเทียม เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งให้ได้อย่างน้อย 1 จุดต่อ 1 ตำบล สำหรับพื้นที่ที่ยังไม่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ให้ใช้เทคโนโลยี ระบบข้อมูล หรือโปรแกรมการคำนวณในการประเมินสถานการณ์น้ำ เพื่อแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่ทราบอย่างทันท่วงที
ทั้งนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสารณภัย ได้เร่งระดมนำเครื่องสูบน้ำไปติดตั้งตามจุดต่างๆ โดยเฉพาะพื้นที่ชุมชน เขตเศรษฐกิจ และพื้นที่สำคัญของจังหวัด เพื่อระบายน้ำที่ท่วมขังไปยังแหล่งน้ำสาธารณะในพื้นที่ รวมถึงระดมสรรพกำลัง เจ้าหน้าที่ เครื่องจักรกลด้านสาธารณภัย รถยกสูง รถสูบส่งน้ำระยะไกล เรือท้องแบน เต๊นท์ยกพื้น ถุงยังชีพ และรถไฟส่องสว่าง จากศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 1 ปทุมธานี เขต 2 สุพรรณบุรี เขต 3 ปราจีนบุรี และเขต 16 ชัยนาท สนับสนุนการทำงานของผู้ว่าราชการจังหวัดในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคกลางบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา ได้แก่ จังหวัดลพบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง ชัยนาท นครสวรรค์ อุทัยธานี พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี และปทุมธานี ซึ่งได้รับผลกระทบจากน้ำเอ่อล้นตลิ่งจากการระบายน้ำเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มมาก ขึ้น เพื่อปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างรวดเร็วและทันท่วงที