นางสาวดุจเดือน ศศะนาวิน เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รับการถ่ายโอนภารกิจตรวจสอบสินค้าเกษตรและอาหารนำเข้า จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข ตามพิกัดศุลกากร 7 พิกัด ครอบคลุมสินค้ารวม 338 รายการ ประกอบด้วย พิกัด02 ได้แก่ เนื้อสัตว์และส่วนอื่นของสัตว์ที่บริโภคได้ พิกัด03 ได้แก่ ปลา สัตว์น้ำจำพวกครัสตาเซีย โมลลุสก์ และสัตว์น้ำไม่มีกระดูกสันหลังอื่นๆ
พิกัด04 ได้แก่ ไข่สัตว์ปีก ผลิตภัณฑ์จากสัตว์ที่บริโภคได้ซึ่งไม่ได้ระบุหรือรวมไว้ในที่อื่น พิกัด05 ได้แก่ ผลิตภัณฑ์จากสัตว์ที่ไม่ได้ระบุหรือรวมไว้ในที่อื่น พิกัด09 ได้แก่ กาแฟ และเครื่องเทศ พิกัด10 ได้แก่ ธัญพืช และพิกัด12 ได้แก่ เมล็ดพืชและผลไม้ที่มีน้ำมัน เมล็ดธัญพืชและผลไม้เบ็ดเตล็ด พืชที่ใช้ในอุตสาหกรรม เป็นต้น ส่วนสินค้าเกษตรและอาหารที่ส่งออกแล้วถูกส่งกลับคืนมา หากจะนำมาปรับปรุงเพื่อส่งออกใหม่กระทรวงเกษตรฯจะเป็นผู้ดูแล แต่หากประสงค์จะนำกลับเข้ามาจำหน่ายในประเทศ อย.ยังคงทำหน้าที่ตรวจสอบเหมือนเดิม
ในระยะแรกนี้ เจ้าหน้าที่กระทรวงเกษตรฯจะตรวจสอบสินค้าเกษตรและอาหารนำเข้าที่ได้รับการถ่ายโอนภารกิจในฐานะพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 ก่อน อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันกระทรวงเกษตรฯและกระทรวงสาธารณสุขอยู่ระหว่างเร่งผลักดันให้มีการปรับแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ พ.ร.บ.มาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ.2551 และพ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 ให้มีความชัดเจน และให้สอดคล้องกับการปฏิบัติการตรวจสอบคุณภาพและควบคุมความปลอดภัยอาหาร ณ ด่านนำเข้า และเพื่อให้เป็นเอกภาพในการบริหารจัดการสินค้าเกษตรและอาหารนำเข้าทั้งระบบ และในระยะต่อไปคาดว่าจะมีการถ่ายโอนภารกิจตรวจสอบสินค้าเกษตรและอาหารนำเข้าในกลุ่มพิกัดสินค้าอื่นๆ ต่อไป
ที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรฯได้เร่งปะสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมปศุสัตว์ กรมวิชาการเกษตร และกรมประมง ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบการตรวจสอบสินค้าเกษตรนำเข้าตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องด้านการกักกัน เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจให้เป็นทิศทางเดียวกันในการตรวจสอบสินค้าเกษตรและอาหารนำเข้า เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการกำกับดูแลความปลอดภัยอาหารและอำนวยความสะดวกทางการค้าให้รวดเร็วขึ้น ที่สำคัญยังช่วยปกป้องผู้บริโภคภายในประเทศจากสินค้าที่มีความเสี่ยงและสินค้าที่ไม่ปลอดภัยด้วย
“ประเทศไทยจำเป็นต้องเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบสินค้าเกษตรและอาหารนำเข้าจากต่างประเทศ เนื่องจากมีความเสี่ยงที่อาจเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค อาทิ ปัญหาสารพิษตกค้างปนเปื้อน รวมถึงเรื่องเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรค และสารอะฟลาท็อกซินปนเปื้อนในสินค้าเกษตรและอาหาร เป็นต้น เพื่อให้ผู้บริโภคในประเทศได้บริโภคสินค้าที่มีคุณภาพและมีความปลอดภัย"เลขาธิการ มกอช.กล่าว