นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุข (สธ.) มอบหมายให้อธิบดีกรมการแพทย์ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านความปลอดภัยของอาหาร ได้แก่ กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล, กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์, กรมอนามัย, ผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (ไทยแพน) ในการวิเคราะห์ข้อมูลสารพิษตกค้างที่พบมาก เพื่อนำมากำหนดมาตรการควบคุมสารกำจัดศัตรูพืชที่ไม่ควรใช้ในประเทศไทย กำหนดวิธีการตรวจที่มีมาตรฐาน รวมทั้งคำแนะนำแก่ประชาชนในการล้างผักผลไม้เพื่อลดสารเคมีตกค้าง ให้บริโภคได้อย่างปลอดภัย เพื่อไม่ให้ประชาชนเกิดความสับสสน โดยให้รายงานความคืบหน้าในการประชุมครั้งต่อไปอีก 15 วันข้างหน้า
"วันนี้ผู้ที่เกี่ยวข้องด้านความปลอดภัยอาหารโดยเฉพาะผักผลไม้ได้นำข้อมูลสถานการณ์ความปลอดภัยของผักผลไม้ที่แต่ละหน่วยงานดำเนินการเพื่อดูแลสุขภาพประชาชนมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ได้ข้อสรุปร่วมกันว่า ผักผลไม้ที่แต่ละหน่วยงานไปสุ่มตรวจมีสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้าง แต่ปนเปื้อนมากน้อยแค่ไหนต้องมาพิจารณาร่วมกันให้ชัดเจนอีกครั้ง เนื่องจากวิธีการเก็บตัวอย่างและวิธีการตรวจมีความแตกต่างกัน แต่ประชาชนไม่ต้องกังวลใจ เพราะหากรับประทานในปริมาณที่พอดี ไม่มากเกินไป และหลากหลายชนิด หมุนเวียนกันไป รวมทั้งล้างผักผลไม้ให้สะอาดก่อนนำมารับประทานหรือปรุงอาหาร ไม่ว่าจะด้วยวิธีการล้างน้ำไหลผ่าน น้ำผสมน้ำส้มสายชู หรือน้ำผสมเบ็คกิ้งโซดา ก็จะช่วยลดปริมาณสารตกค้างลงได้" นพ.ปิยะสกล กล่าว
ด้าน นพ.สุขุม กาญจนพิมาย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จะร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพัฒนาศักยภาพห้องปฏิบัติการในการตรวจสารเคมีตกค้างในผักผลไม้ให้มากขึ้น ซึ่งขณะนี้ตรวจได้ 280 ชนิด โดยจะใช้เครื่องตรวจชนิดใหม่ที่สามารถตรวจได้ 500 ชนิดเช่นเดียวกับห้องปฏิบัติการที่ประเทศอังกฤษ และร่วมกันวิเคราะห์สารที่มีปัญหาตกค้างสูง เพื่อติดตามเฝ้าระวังอย่างเข้มข้น และหาวิธีการแก้ไขปัญหาร่วมกัน รวมทั้งกำหนดวิธีการตรวจที่มีมาตรฐานเดียวกัน ให้เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย ลดความสับสนของข้อมูล เพื่อให้ประชาชนมั่นใจว่าไม่ว่าจะตรวจที่ห้องปฏิบัติการใดในประเทศที่ผ่านมาตรฐานนี้ จะเป็นมาตรฐานเดียวกับสากล