"วิษณุ"ชี้แจงกรณีการตั้งพระรัชทายาท-ผู้สำเร็จราชการแทน เป็นไปตามกฎมณเฑียรบาลและรัฐธรรมนูญ

ข่าวทั่วไป Saturday October 15, 2016 10:01 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ด้านกฎหมาย ได้ชี้แจงถึงกรณีการสืบราชสันตติวงศ์ การตั้งพระรัชทายาท ตลอดจนความจำเป็นของการมีผู้สำเร็จราชการแทนว่า การแต่งตั้งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เป็นพระรัชทายาทนั้น ได้มีขึ้นตั้งแต่วันที่ 28 ธ.ค.2515 แล้ว ซึ่งตามกฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับปี 2534 จนถึงฉบับปัจจุบัน และฉบับใหม่นั้นได้เขียนไว้ว่า เมื่อราชบัลลังก์ว่างลง กรณีที่มีการตั้งพระรัชทายาทไว้แล้ว จะไม่มีทางอื่นใดทั้งสิ้น และเป็นเรื่องที่คณะรัฐมนตรีจะต้องแจ้งไปยังประธานรัฐสภา ซึ่งขณะนี้คือประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ให้ทราบว่าได้มีการตั้งพระรัชทายาทไว้แล้ว โดยขั้นตอนต่อไป ประธานรัฐสภาจะเรียกประชุม เพื่อมีมติรับทราบอย่างเป็นทางการ จากนั้นจะได้กราบบังคมทูลเชิญขึ้นครองราชย์เป็นพะมหากษัตริย์ และเมื่อทรงรับ ก็จะออกประกาศให้ประชาชนทราบว่าบัดนี้ประเทศไทยมีพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่แล้ว ซึ่งเรียกว่าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยนี่คือขั้นตอนตามรัฐธรรมนูญที่เขียนไว้ชัดเจน

"หากไม่มีการสถาปนาอะไร พระองค์ท่านก็ทรงเป็นรัชทายาทอยู่แล้วตามกฎมณเฑียรบาล แต่เพื่อให้เกิดความชัดเจนขึ้น ในปี 2515 จึงโปรดให้ตั้งการพระราชพิธีสถาปนาตามโบราณประเพณี" นายวิษณุ กล่าว

พร้อมระบุว่า ทั้งหมดนี้เป็นกระบวนการตามขั้นตอนที่เขียนไว้แล้วในกฎหมายรัฐธรรมนูญ และไม่ได้มีการระบุกรอบเวลาไว้ว่าจะต้องดำเนินการภายในระยะเวลาเท่าใด เพียงแต่ถ้าทำได้เร็วก็จะเป็นการดี แต่เนื่องจากสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร มีพระราชปรารภว่าช่วงนี้เป็นช่วงเวลาทำพระทัย เช่นเดียวกันคนไทยทุกคน หากมีกิจบ้านการเมืองที่ไม่ใช่เร่งด่วน ก็ขอให้รอไว้ก่อน ขอให้การดำเนินการเรื่องพระบรมศพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศให้ลุล่วงไประดับหนึ่งก่อน

"รัฐบาลได้รับเรื่องนี้ใส่เกล้าใส่กระหม่อม จึงเป็นเหตุให้รัฐบาลยังไม่เสนอเรื่อง หรือแจ้งไปยังประธานสภานิติบัญบัติแห่งชาติ ดังนั้นทาง สนช.จึงไม่มีเหตุที่จะต้องเรียกประชุมเพื่อมีมติรับทราบการอัญเชิญขึ้นครองราชย์ ทั้งหมดขอรอเพียงระยะเวลาอันสมควร โดยไม่มีเหตุอันควรหรือสงสัยว่าจะต้องปฏิบัติเป็นอย่างอื่น" รองนายกรัฐมนตรี ระบุ

ส่วนความจำเป็นที่จะต้องมีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์นั้น นายวิษณุ กล่าวว่า เป็นธรรมดาของประเทศที่เป็นราชอาณาจักรที่ราชบัลลังก์จะว่างลงไม่ได้แม้แต่ว้นเดียว แต่เมื่อมีเหตุจำเป็นที่ไม่สามารถปฏิบัติได้ในทันที ก็จะต้องมีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์มาปฏิบัติหน้าที่นี้

"เมื่อสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมารทรงมีพระราชปรารภมาเช่นนั้น รัฐบาลก็ต้องรับใส่เกล้าใส่กระหม่อม และเป็นเหตุให้ต้องมีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แทรกเข้ามาในช่วงเวลานี้ เพื่อไม่ให้ทุกอย่างว่างเว้นลง เพราะอาจจะมีกิจบ้านการเมืองที่จะต้องมีการปฏิบัติ แต่ถ้าไม่มีก็แล้วไป ซึ่งรัฐธรรมนูญได้เขียนหลักเกณฑ์ไว้อย่างรัดกุมรอบคอบว่า ในกรณีที่ยังไม่มีการสถาปนาพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ ให้ประธานองคมนตรีเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เป็นการชั่วคราวไปพลางก่อน" นายวิษณุ กล่าว

พร้อมระบุว่า การที่ประธานองคมนตรีจะเป็นผู้สำเร็จราชแทนพระองค์ไปพลางก่อนนั้น จะทำให้ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ประธานองคมนตรีไปพร้อมกันได้ จะต้องมีการเลือกองคมนตรีขึ้นมาปฏิบัติหน้าที่ประธานองคมนตรี เพื่อให้งานของประธานองคมนตรีแยกออกจากงานของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ซึ่งการปฏิบัติหน้าที่ "ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เป็นการชั่วคราวไปพลางก่อน"นั้น ไม่ได้เกิดจากการแต่งตั้ง หรือการสถาปนา ยอมเป็นหรือไม่ยอมเป็น รับหรือไม่รับ แต่เป็นเรื่องที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้โดยตำแหน่ง ผู้ที่เป็นประธานองคมนตรีจะต้องเป็นโดยตำแหน่ง จึงไม่ต้องมีการแต่งตั้ง สถาปนา หรือปฏิญาณตนต่อรัฐสภา แต่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ทันที หากมีกรณีเร่งด่วนที่จะต้องดำเนินการในช่วงระหว่างที่ยังไม่มีพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่

ส่วนกรณีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ที่จะต้องมีการสถาปนาหรือแต่งตั้งนั้น จะเป็นกรณีที่เกิดจากการที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งขึ้น ซึ่งเคยเกิดขึ้นเมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศทรงผนวช จึงได้มีการสถาปนาสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ให้เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ซึ่งตรงนี้จะไม่มีการใช้คำว่า "เป็นการชั่วคราวไปพลางก่อน" เพราะได้มีการแต่งตั้งหรือสถาปนา

นายวิษณุ ยังฝากไปถึงประชาชนว่าไม่ควรหลงเชื่อข่าวลือต่างๆ แต่ขอให้ฟังประกาศและแถลงการณ์ของทางราชการเท่านั้น และไม่ควรเผยแพร่ หรือปล่อยข่าวที่ไม่เป็นความจริงออกไป เพราะอาจจะก่อให้เกิดความเสียหายได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ