นายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า เนื่องจากในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมาเกิดฝนที่ตกชุกในพื้นที่อำเภอคลองขลุง จังหวัดกำแพงเพชร และอำเภอแม่วงก์(อุทยานแห่งชาติแม่วงก์) จังหวัดนครสวรรค์ ทำให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำปิงและแม่น้ำสะแกกรัง ไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยามากขึ้น คาดว่าปริมาณน้ำนี้จะไหลมาถึงเขื่อนเจ้าพระยา ในวันที่ 22 ตุลาคม 2559 กรมชลประทานได้วางแผนบริหารจัดการน้ำล่วงหน้าไว้แล้ว ด้วยการพร่องน้ำบริเวณเหนือเขื่อนเจ้าพระยาให้มีพื้นที่ว่างไว้รองรับปริมาณน้ำที่จะไหลลงมาเพิ่ม พร้อมกับใช้ระบบชลประทานทั้งฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกรับน้ำเข้าไปตามศักยภาพ ส่วนปริมาณน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยา กรมชลประทานจะพิจารณาการระบายน้ำให้สมดุลกับปริมาณน้ำเหนือเขื่อน โดยควบคุมไม่ให้เกิดผลกระทบต่อพื้นที่ด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ตั้งแต่จังหวัดชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง และพระนครศรีอยุธยา
สำหรับเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ แนวโน้มน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำยังคงลดลง กรมชลประทาน ได้ปรับลดการระบายน้ำลงเหลือ 19 ล้านลูกบาศก์เมตร(เมื่อวานนี้ 38 ล้านลูกบาศก์เมตร) เพื่อเก็บกักน้ำให้เต็มเขื่อนก่อนจะสิ้นสุดฤดูฝน ส่วนที่เขื่อนพระราม 6 มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 430 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ทำให้ระดับน้ำที่อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยาลดลงตามลำดับ
ทั้งนี้ ปริมาณน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำป่าสัก จะไหลมาบรรจบกันที่บริเวณอำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ปัจจุบันมีปริมาณน้ำไหลผ่านเฉลี่ย 2,273 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณจังหวัดปทุมธานี นนทบุรี และกรุงเทพมหานคร ยังคงมีระดับน้ำสูงขึ้นตามจังหวะการขึ้นลงของน้ำทะเล เนื่องจากเป็นช่วงที่น้ำทะเลหนุนสูง ซึ่งกรมอุทกศาสตร์ได้คาดการณ์ว่าจะสูงสุดในวันที่ 19 ตุลาคม 2559 จึงขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำ นอกคันกั้นน้ำ ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดด้วย