กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เชิญชวนประชาชนร่วมประกาศสงครามกับยุงลายทั้งประเทศตามแนวพระราชดำรัสดังกล่าวของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ความว่า "โครงการปราบยุงลายคั่งค้างมานานแล้ว และอันตรายยังมีอยู่มาก อยากให้ปราบปรามอย่างจริงจัง อันตรายจากไข้เลือดออกจะได้ทุเลาลง" ซึ่งพระราชทาน ณ พระราชวังไกลกังวล หัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ.2542
"กระทรวงสาธารณสุขได้น้อมนำแนวพระราชดำรัสดังกล่าวมาดำเนินการอย่างต่อเนื่อง และในโอกาสนี้ขอเชิญชวนปวงชนชาวไทยร่วมกันประกาศสงครามกับยุงลายทั้งประเทศ โดยทำอย่างจริงจังให้เป็นวิถีชีวิต เพื่อกำจัดยุงลาย โรคไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสซิกา และโรคที่มียุงลายเป็นพาหะให้ทุเลาลงและหมดไปจากแผ่นดินไทยให้ได้ในที่สุด" นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าว
โดยขอให้ประชาชนทั่วประเทศร่วมกันกำจัดยุงลายตามมาตรการ “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค" ดังนี้ 1.เก็บบ้านให้สะอาด โปร่งโล่ง ไม่ให้มีมุมอับทึบเป็นที่อาศัยเกาะพักของยุง 2.เก็บขยะ เศษภาชนะรอบๆ บ้านที่อาจมีน้ำฝนตกลงมาตกค้างได้ โดยทำต่อเนื่องสัปดาห์ละครั้งไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง และ 3.เก็บน้ำ สำรวจภาชนะใส่น้ำ ต้องปิดฝาให้มิดชิด ป้องกันยุงลายไปวางไข่เพื่อป้องกัน 3 โรค คือโรคไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสซิกา และโรคไข้ปวดข้อยุงลาย
ทั้งนี้จากการสุ่มสำรวจของฝ่ายกีฏวิทยาและควบคุมแมลงนำโรคของกรมควบคุมโรค พบว่า ในช่วงฤดูฝนนี้ในภาพรวมของประเทศยังมีอัตราการพบลูกน้ำยุงลายในภาชนะต่างๆ สูงเกินค่าที่กำหนด จึงต้องขอความร่วมมือจากทุกฝ่ายในการขจัดต้นตอของปัญหา โดยขอให้ประชาชนเริ่มต้นดำเนินการที่บ้านของตนเองก่อน ให้ทุกคนในครอบครัวถือว่าการกำจัดลูกน้ำยุงลายเป็นภารกิจประจำวันของทุกบ้าน จากนั้นขยายไปสู่ชุมชน และสถานที่สาธารณะส่วนรวม เช่น โรงเรียน วัด ศาสนสถาน และสถานที่ทำงาน เป็นต้น เพื่อเป็นการลดจำนวนของยุงลายในธรรมชาติให้น้อยลง ซึ่งจะทำให้จำนวนผู้ป่วยด้วยโรคที่เกิดจากยุงลายหลายๆ โรคลดลงตามไปด้วย โดยทำร่วมกับการกำจัดและควบคุมยุงลายแบบครบวงจรตั้งแต่ยุงตัวแก่ เช่น การพ่นสารเคมีกำจัดยุงลาย และการป้องกันไม่ให้ยุงลายกัด เช่น ทายากันยุง นอนในมุ้งหรือห้องที่มีมุ้งลวด กำจัดยุงโดยใช้ไม้ช็อตไฟฟ้า จุดสมุนไพรหรือยาจุดไล่ยุง หรือใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น กำจัดลูกน้ำในภาชนะซึ่งถือเป็นเป้านิ่งที่ทำลายง่ายที่สุด หรือขัดล้างไข่ตามขอบภาชนะตัดวงจรแต่ต้น นอกจากนี้ หลายพื้นที่ของประเทศไทยยังคงมีน้ำท่วมขัง ช่วงน้ำท่วมจริงๆ ยุงลายมักไม่มากเท่ายุงชนิดอื่น เช่น ยุงรำคาญ เพราะยุงลายไม่ไข่ในแหล่งน้ำขนาดใหญ่ แต่ภายหลังน้ำลดจะทำให้มีน้ำขังตามภาชนะต่างๆ กลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ประชาชนในพื้นที่จึงต้องร่วมแรงร่วมใจกัน สำรวจและกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายเหล่านี้ภายหลังน้ำลด และเพิ่มความระมัดระวังตนเองและคนในครอบครัวไม่ให้ถูกยุงกัด
สำหรับสถานการณ์โรคไข้เลือดออกปี 2559 ล่าสุดสัปดาห์ที่ 41 (ข้อมูล ณ วันที่ 18 ต.ค. 2559) พบผู้ป่วยแล้ว 49,252 ราย เสียชีวิต 42 ราย ส่วนใหญ่พบในกลุ่มอายุ 10-14 ปีมีอัตราป่วยสูงสุด คือ 205.33 ต่อประชากรแสนคน รองลงมาได้แก่ 5-9 ปี (174.90), 15-24 ปี (127.45), แรกเกิด-4 ปี (81.27) และอายุ 25-34 ปี (78.48) ตามลำดับ ซึ่งจะเห็นได้ว่าผู้ป่วยเกือบครึ่งอยู่ในกลุ่มเด็กและเยาวชนหรือในกลุ่มนักเรียน (ร้อยละ 42.77) เป็นกลุ่มคนที่ยังมีภูมิคุ้มกันโรคนี้น้อย และวิถีชีวิตการนอนกลางวันและอยู่ในห้องเสียเป็นส่วนใหญ่ จึงมีโอกาสถูกยุงลายกัดมากกว่านั่นเอง พ่อแม่ผู้ปกครองจึงควรดูแลและป้องกันไม่ให้ยุงกัดบุตรหลานของท่าน
ขณะที่สถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสซิกาในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-14 ต.ค.59 พบผู้ป่วยแล้ว 520 ราย ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา (8-14 ต.ค.59) พบผู้ป่วยรายใหม่ 79 ราย ซึ่งสามารถควบคุมโรคได้ โดยพบผู้ป่วยในบางอำเภอ บางจังหวัดเท่านั้น ส่วนโรคไข้ปวดข้อยุงลาย ยังคงมีจำนวนผู้ป่วย 13 ราย และไม่มีผู้เสียชีวิต