นายวิบูลพงศ์ พูนประสิทธิ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าในงานเสวนา "โค้งสุดท้ายสู่ทำเนียบขาว : ผลกระทบต่ออาเซียนและไทย" เพื่อเตรียมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงระดับมหาอำนาจ เมื่อเข้าสู่ยุคของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา คนที่ 45 ว่า ประเทศสหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทย และมีการเข้ามาลงทุนในไทยมากเป็นอันดับ 3 ดังนั้น ไม่ว่าใครจะชนะการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีคนที่ 45 ของสหรัฐฯ ก็จะส่งผลกระทบต่อประเทศไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ทั้งนี้ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ตัวแทนจากพรรครีพับริกันไม่เคยเป็น ส.ส.หรือ ส.ว.มาก่อน จึงมีนโยบายค่อนข้างแปลก อย่างเช่นนโยบายทางเศรษฐกิจที่จะกลับไปสู่ในอดีตเหมือนช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่สหรัฐโดดเดี่ยวไม่พึ่งพาใคร ดึงการลงทุนจากต่างประเทศกลับมาเพื่อสร้างงานให้คนในประเทศ แต่กลับได้รับเสียงสนับสนุนจากคนอเมริกันส่วนหนึ่ง เพราะสะท้อนความรู้สึกของคนชั้นกลางอย่างแท้จริง ขณะที่นางฮิลลารี คลินตัน จากพรรคเดโมแครต จะมีการปรับเปลี่ยนนโยบายเรื่องเขตการค้าเสรี (FTA) ไปจากเดิม
"นายทรัมป์ เป็นคนที่มีบุคลิกแปลก และเป็นอันตรายต่อโลก หากชนะการเลือกตั้ง น่าจะทำให้สงครามโลกครั้งที่ 3 เกิดขึ้นได้" นายวิบูลพงศ์ กล่าว
พร้อมะรบุว่า ขณะนี้ยังไม่สามารถคาดเดาได้ว่าใครจะชนะการเลือกตั้ง เพราะขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของคนอเมริกันแต่ละกลุ่มที่จะได้รับผลประโยชน์ต่างกัน กลุ่มผิวขาวอาจชอบนโยบายของทรัมป์ที่ให้ความสำคัญเรื่องชาตินิยม ส่วนกลุ่มผิวสีอาจชอบนโยบายของฮิลลารีที่ให้ความสำคัญเรื่องสิทธิมนุษยชน
ด้านนายวิวัฒน์ มุ่งการดี อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐครั้งนี้ หากพรรคใดได้รับเลือกตั้งเกินกึ่งหนึ่งของจำนวน 538 ที่นั่ง หรือได้ 270 ที่นั่ง ก็ถือว่าชนะการเลือกตั้ง ซึ่งเท่าที่ดูคะแนนนิยมแล้ว ขณะนี้นางฮิลลารีมีโอกาสชนะเลือกตั้งถึง 80% เพราะมีคะแนนนิยมอยู่ 268 เสียงแล้ว แค่หากคะแนนเสียงในรัฐที่ยังมีคะแนนไม่ชัดเจนเพิ่มอีกเพียงรัฐเดียวก็เพียงพอแล้วที่จะชนะการเลือกตั้งครั้งนี้ ซึ่งล่าสุด FBI ได้ประกาศยุติการสอบสวนเรื่องอีเมล์ยิ่งส่งผลดีต่อนางฮิลลารี
ขณะที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ มีนโยบายจะดึงการลงทุนกลับประเทศด้วยการปรับลดภาษีเพื่อสร้างงานในประเทศ, การปรับขึ้นดอกเบี้ยเพื่อดึงเงินลงทุนกลับประเทศ แต่นโยบายเรื่องการทหารนั้นยังไม่มีความเข้าใจดีนักถึงบทบาทของสหรัฐฯ ในนาโต้, การตั้งฐานทัพในภูมิภาคต่างๆ ทำให้ฐานเสียงของพรรครีพับริกันส่วนหนึ่งเอาใจออกห่างไปสนับสนุนผู้สมัครจากพรรคเดโมแครต
นายวิวัฒน์ กล่าวว่า โดยส่วนตัวคิดว่านางฮิลลารีจะชนะการเลือกตั้งครั้งนี้ เพราะมีนโยบายที่สมดุลในทุกด้าน
นายอมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักวิจัยธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า ผลโพลการเลือกตั้งสหรัฐฯ ครั้งนี้ คนเลือกโดนัลด์ ทรัมป์เพราะไม่ชอบฮิลลารี คลินตัน คนเลือกฮิลลารี คลินตันเพราะไม่ชอบโดนัลด์ ทรัมป์ แต่ยังไม่มีใครกล้าฟันธง กรณีนี้อาจเหมือน Brexit ที่จะรู้ผลเมื่อมีการลงคะแนนเสียง ซึ่งไม่ได้เป็นไปที่คาดการณ์
กรณีอีเมล์ของนางฮิลลารี เป็นเรื่องที่คนอเมริกันยังไม่ได้คำตอบว่ามีผลประโยชน์แอบแฝงหรือไม่ แต่สิ่งที่เห็นคือคนหันไปสนับสนุนทรัมป์มากขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งไม่ได้มาจากการชอบนโยบายของนายทรัมป์ที่จะลดภาษีนิติบุคคลจาก 35% เหลือ 15% จะเป็นการจูงใจให้เกิดการลงทุน ค่าแรงถูกลง ขณะที่นางฮิลลารี มีนโยบายให้คนรวยเสียภาษีเพิ่มขึ้น แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้นจากนโยบายทั้ง 2 พรรคเหมือนกัน คือ การเพิ่มสัดส่วนหนี้สาธารณะ ซึ่งจะส่งผลต่อปัญหาเศรษฐกิจของสหรัฐในอนาคตอย่างแน่นอน เหมือนในสมัยของนายบารัค โอบามา ที่ไม่สามารถขอเพิ่มหนี้สาธารณะชนเพดานได้ และมีโอกาสเกิดปัญหาดังกล่าวซ้ำรอยได้อีก
"นโยบายการคลังที่ทั้งคู่คล้ายกัน คือ การเพิ่มหนี้สาธารณะที่เป็นปัจจัยเสี่ยงให้เศรษฐกิจผันผวน นักลงทุนจะหันไปถือครองดอลลาร์สหรัฐฯ เงินเยน และทองคำ ค่าเงินอาเซียนอ่อนค่า" นายอมรเทพ กล่าว
ส่วนผลกระทบด้านการส่งออกนั้น นายอมรเทพ มองว่าไม่ส่งผลกระทบต่อไทยโดยตรง เพราะไทยเป็นแค่ห่วงโซ่อุปทาน ไม่ใช่คู่แข่งขันกับสหรัฐฯ แต่จะส่งผลกระทบทางอ้อมในการส่งออกไปจีนและอาเซียนให้ชะลอตัว หากสหรัฐฯ เลือกนโยบายกีดกันทางการค้าจะเป็นการฆ่าตัวตาย เพราะต้องพึ่งพาจีนอยู่มาก ดังนั้น จะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในประเทศของสหรัฐฯ เอง โดยประเทศที่ได้รับผลกระทบน่าจะเป็นสิงคโปร์ และมาเลเซียมากกว่า
"นโยบายการค้าต่างประเทศที่มุ่งสร้างงานในประเทศ จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยในปีนี้ให้ชะลอตัวลง" นายอมรเทพ กล่าว
แต่หากนางฮิลลารีชนะเลือกตั้ง อาจไม่ส่งผลต่อเศรษฐกิจของไทยมากนัก เพราะนโยบายเศรษฐกิจไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม แต่หากนายทรัมป์ ชนะเลือกตั้ง อาจมีการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างรุนแรงส่งผลต่อตลาดเงินตลาดทุน
"ผลเลือกตั้งจะส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นในระยะสั้นไม่เกิน 2 สัปดาห์ ส่วนกรณีที่ดัชนีตลาดหุ้นปรับตัวลดลงในขณะนี้เป็นความตกใจเกินเหตุ" นายอมรเทพ กล่าว
พร้อมระบุว่า สิ่งที่จะต้องติดตามคือความต่อเนื่องของนโยบายเศรษฐกิจของประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่ และเสียงข้างมากในสภาคองเกรสที่จะสนับสนุนการดำเนินนโยบาย ซึ่งจะช่วยให้เห็นความชัดเจนมากขึ้น
ส่วนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะมีขึ้นอีกครั้งในเดือน ธ.ค.นี้ หลังตัวเลข GDP ในไตรมาสที่ 3 ออกมาดี
นายอมรเทพ ระบุว่า อย่าเชื่อผลโพลล์และการวิเคราะห์ของนักเศรษฐศาสตร์ แต่ต้องจับตาดูผลการลงคะแนนเลือกตั้ง เพราะอาจพลิกผันเหมือนกรณีที่อังกฤษลงประชามติแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) ซึ่งส่วนตัวเชื่อว่าคะแนนนิยมในตัวนางฮิลลารีที่ดี ไม่ได้เกิดจากความชอบหรือไม่ชอบ แต่นักลงทุนต้องการความชัดเจนและต่อเนื่อง
นายอมรเทพ กล่าวว่า ไม่ว่าใครจะชนะการเลือกตั้ง แต่คนอเมริกันจะแพ้ เพราะต่างคนต่างมีนโยบายที่มุ่งในทางการเมืองมากเกินไป ซึ่งหากตนเองเป็นคนอเมริกันคงจะไม่เลือกทั้ง 2 คนนี้
ด้านนายประภัสสร์ เทพชาตรี ผู้อำนวยการศูนย์อาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะนายกสมาคมอเมริกันศึกษาแห่งประเทศไทย กล่าวว่า นโยบายของนางฮิลลารี เป็นเสรีนิยมที่สานต่อนโยบายจากนายบารัค โอบามา แต่มีความแข็งกร้าวมากกว่า ขณะที่นายทรัมป์ จะเป็นนโยบายอนุรักษ์นิยม ขวาจัดสุดโต่ง เพื่อทำให้สหรัฐฯ กลับมายิ่งใหญ่เหมือนในอดีต
ส่วนนโยบายเรื่องข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) ถือเป็นเรือธงที่พรรคเดโมแครตจะสานต่อไปและกดดันประเทศอื่นให้เข้าร่วม ซึ่งไทยเองก็มีท่าทีที่จะเข้าร่วมเช่นกัน
ขณะที่นายทรัมป์ มองว่านโยบายของโอบามาถือเป็นยุคเสื่อมของสหรัฐฯ ที่ตกต่ำ ไม่สามารถแก้ปัญหาอะไรได้เลย โดยมีสาเหตุจากการเสียเปรียบทางเศรษฐกิจจากจีน การลงทุนทางทหารมากเกินไป ไม่สนับสนุนเรื่องการจัดตั้งเขตการค้าเสรีทุกรูปแบบ แต่ไม่ว่าใครจะชนะเลือกตั้งต่างมีจุดหมายเดียวกัน คือการกีดกันทางการค้า
"หลังการเลือกตั้ง ไทยอาจต้องมีการปรับยุทธศาสตร์ด้านต่างประเทศ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ" นายประภัสสร์ กล่าว พร้อมมองว่า หากจะให้เกิดประโยชน์สูงสุด นางฮิลลารี ควรจะเป็นผู้ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ
อนึ่ง ในวันพรุ่งนี้ (8 พ.ย.) สหรัฐอเมริกาจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีคนที่ 45 เพื่อมาดำรงตำแหน่งต่อจากนายบารัค โอบามา โดยมีผู้ท้าชิงตำแหน่งดังกล่าว ได้แก่ นางฮิลลารี คลินตัน จากพรรคเดโมแครต และนายโดนัลด์ ทรัมป์ จากพรรครีพับลิกัน ซึ่งถือเป็นความเคลื่อนไหวครั้งสำคัญที่คนทั้งโลกจับตาดู เพราะนโยบายของผู้ชิงตำแหน่งทั้งคู่ ล้วนมีความเกี่ยวกันต่อประชาคมโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้