นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ช่วงนี้หลายพื้นที่ในประเทศไทยอากาศเริ่มหนาวเย็น ซึ่งเหมาะกับการแพร่กระจายของเชื้อโรค และบางพื้นที่เริ่มมีนกอพยพหนีอากาศหนาวจากต่างประเทศเข้ามาในประเทศ จึงควรเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกเป็นพิเศษ
ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลกได้รายงานผู้ป่วยโรคไข้หวัดนก สายพันธุ์ เอช 5 เอ็น 1 ทั่วโลก ตั้งแต่ปี พ.ศ.2546 จนถึงวันที่ 11 พฤศจิกายน 2559 พบผู้ป่วยยืนยัน 854 ราย เสียชีวิต 450 ราย กระจายใน 16 ประเทศ
สำหรับประเทศไทยไม่มีรายงานผู้ป่วยติดเชื้อไข้หวัดนกสายพันธุ์ เอช 5 เอ็น 1 ตั้งแต่ พ.ศ.2549 แต่ยังคงมีมาตรการเฝ้าระวังและประเมินความเสี่ยงโรคในทุกพื้นที่อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะจังหวัดตามแนวชายแดนซึ่งมีโอกาสที่โรคจะแพร่ระบาดเข้ามาผ่านการเคลื่อนย้ายสัตว์และการเดินทางของประชาชน
อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคไข้หวัดนกเป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดเอในสัตว์ปีก โดยสัตว์ปีกทุกชนิดติดเชื้อนี้ได้ เช่น ไก่ เป็ด นกน้ำ นกชายทะเล เป็นต้น ซึ่งเชื้อไวรัสไข้หวัดนกมีหลายสายพันธุ์ที่ก่อโรคในคนได้ โดยส่วนมากผู้ป่วยที่ป่วยด้วยโรคไข้หวัดนกจะมีประวัติการสัมผัสกับไก่ป่วย/ไก่ที่ตายผิดปกติ ส่วนการแพร่จากคนสู่คนพบได้น้อย สำหรับอาการของโรคไข้หวัดนก หลังจากได้รับเชื้อประมาณ 2-8 วัน มักมีไข้สูง ปวดศรีษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย มีน้ำมูก ไอ และเจ็บคอ บางครั้งพบว่ามีอาการตาแดงร่วมด้วย บางรายมีอาการแทรกซ้อนรุนแรง เช่น ปอดบวม ระบบหายใจล้มเหลว โดยเฉพาะในเด็ก และผู้สูงอายุ ที่สำคัญ หากผู้ป่วยมีประวัติสัมผัสสัตว์ปีกหรืออยู่ในพื้นที่สัตว์ปีกป่วยตาย หรือหลังเดินทางกลับจากพื้นที่มีรายงานผู้ป่วย ให้รีบไปพบแพทย์ภายใน 48 ชั่วโมง
สำหรับคำแนะนำในการป้องกันโรคไข้หวัดนก กรมควบคุมโรค ขอความร่วมมือประชาชนหมั่นสังเกตอาการของสัตว์ปีกทั้งเป็ด ไก่ และนกที่เลี้ยงไว้รวมทั้งนกธรรมชาติ หากพบว่าป่วยตายผิดปกติให้สงสัยว่าอาจติดเชื้อไข้หวัดนก และห้ามนำสัตว์ปีกที่ตายแล้วหรือกำลังมีอาการป่วยมาชำแหละเพื่อจำหน่ายหรือรับประทาน หรือนำไปให้สัตว์อื่นกินอย่างเด็ดขาดเพราะถ้าสัตว์ปีกติดเชื้อไข้หวัดนกผู้ชำแหละจะติดเชื้อจากสัตว์นั้นได้ รวมถึงหากพบสัตว์ปีกตายผิดปกติให้แจ้งหน่วยงานปศุสัตว์ในพื้นที่เช่น ปศุสัตว์จังหวัด แต่หากจำเป็นต้องสัมผัสสัตว์ที่ป่วยหรือตายให้สวมถุงมือหรือถุงพลาสติกและล้างมือฟอกสบู่ทุกครั้งหลังจากสัมผัสสัตว์ปีก
“ขอให้ประชาชนยึดหลักกินอาหารปรุงสุกใหม่ ใช้ช้อนกลาง และล้างมือด้วยสบู่บ่อยๆ หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ปีก เพื่อให้ห่างไกลจากโรคไข้หวัดนก ที่สำคัญ หากรับประทานอาหารประเภทสัตว์ปีกต้องปรุงให้สุกก่อนรับประทาน ส่วนไข่ควรเลือกฟองที่สดใหม่ และไม่มีมูลติดเปื้อนที่เปลือกไข่ ก่อนปรุงควรนำมาล้างให้สะอาดและห้ามรับประทานสุกๆดิบๆ " นพ.เจษฎา กล่าว