ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เผยกรมสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้รับการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสระดับสูงมากด้วยค่าคะแนนร้อยละ 88.22 เป็นอันดับ 3 ของประเทศ เดินหน้าเร่งรัดให้หน่วยงานในสังกัดดำเนินการด้วยมาตรการ 3 ป. 1 ค. คือ ปลุกจิตสำนึก ป้องกัน ปราบปราม และสร้างเครือข่ายในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
นายแพทย์โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า รัฐบาลให้ความสำคัญและผลักดันให้การป้องกันและปราบปรามการทุจริตเป็นวาระแห่งชาติ โดยส่งเสริมการบริหารราชการแผ่นดินที่มีธรรมาภิบาล ยึดหลักการบริหารจัดการที่ดี กำหนดเป็นยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตต่อเนื่อง ให้หน่วยงานภาครัฐทุกหน่วยงานเข้าร่วมการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใส ในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity and Transparency Assessment: ITA) โดยการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ ระยะที่ 3 (พ.ศ. 2560-2564) กำหนดเป้าหมายเชิงรูปธรรมในเรื่องการพยายามเพิ่มค่าดัชนีการรับรู้การทุจริต ค่า CPI (Corruption Perception Index) สูงกว่าร้อยละ 50 ซึ่งอยู่ที่กลไกของภาครัฐเป็นส่วนใหญ่ และค่า CPI นี้ ยังเป็นหนึ่งในเป้าหมายหลักของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2564) ยุทธศาสตร์ที่ 6 การบริหารจัดการในภาครัฐ การป้องกันการทุจริตประพฤติมิชอบ และธรรมาภิบาลในสังคมไทย ได้กำหนดเป้าหมายเชิงรูปธรรมในเรื่องคะแนนของดัชนีการรับรู้การทุจริตสูงกว่าร้อยละ 50 เมื่อสิ้นสุดแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 ทั้งนี้ การประเมิน ITA จะช่วยฟื้นฟูและช่วยส่งเสริมการต่อต้านการทุจริตเชิงบวกในภาครัฐให้แก่ระบบราชการไทย ซึ่งในปี 2559 มีหน่วยงานภาครัฐและองค์การมหาชน จำนวน 8,293 หน่วยงาน ผนึกกำลังการต่อต้านการทุจริตปิดหนทาง ปิดช่องว่างการกระทำการทุจริตผ่านการร่วมเข้ารับการประเมิน
ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้กำหนดให้ธรรมาภิบาลในการบริหารงาน ที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ เป็น 1 ใน 4 ยุทธศาสตร์สำคัญในการปฏิรูปกระทรวงสาธารณสุข ให้ทุกหน่วยงานในสังกัดเร่งรัดการดำเนินการ โดยในปีงบประมาณ 2559 ที่ผ่านมาผลการประเมิน ITA ค่าเฉลี่ยระดับคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานกระทรวงสาธารณสุข ส่วนราชการระดับกรมหรือเทียบเท่า จำนวน 9 หน่วยงาน มีระดับคุณธรรมและความโปร่งใสในระดับสูง เท่ากับร้อยละ 80.95 ซึ่งเพิ่มสูงกว่าปีก่อนหน้าร้อยละ 3.12 ส่วนราชการระดับจังหวัด ได้แก่ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด โรงพยาบาลศูนย์ และโรงพยาบาลทั่วไป เท่ากับร้อยละ79.56 ซึ่งเพิ่มสูงกว่าปีก่อนหน้าร้อยละ 5.35 ส่วนระดับคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานของสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขส่วนกลางนั้น คะแนนเท่ากับร้อยละ 88.22 มีระดับคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานในระดับสูงมากเป็นอันดับ 3 รองจากกรมราชองครักษ์ และกรมธนารักษ์
ในปีงบประมาณ 2560 กระทรวงสาธารณสุขกำหนดมาตรการ 3 ป. 1 ค. (ปลุกจิตสำนึก ป้องกัน ปราบปราม และสร้างเครือข่าย) ในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต มุ่งเน้นการป้องกันการทุจริตให้เข้มแข็งและมีประสิทธิภาพผ่านกระบวนการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงาน (Integrity and Transparency Assessment: ITA) สำนักงาน ก.พ.ร. กำหนดให้การประเมิน ITA เป็นตัวชี้วัดตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพในการปฏิบัติราชการ ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 5/2559 บังคับใช้เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2559 อยู่ในองค์ประกอบที่ 5 คือ Potential Base ตามกรอบการประเมินส่วนราชการตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพในการปฏิบัติราชการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 ส่วนราชการระดับกรมและระดับจังหวัด กำหนดเป็นตัวชี้วัดตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพในการปฏิบัติราชการ และตัวชี้วัด 1 ใน 4 ยุทธศาสตร์สำคัญในการปฎิรูปกระทรวงสาธารณสุข ระบบบริหารจัดการเป็นเลิศ (Governance Excellence) ประเด็นที่ 10 ระบบธรรมาภิบาลและคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ ร้อยละของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขผ่านเกณฑ์การประเมิน ITA เฉพาะหลักฐานเชิงประจักษ์ (Evidence Based Integrity and Transparency Assessment : EBIT) มีหน่วยงานที่เข้ารับการประเมินฯ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 ทั้งสิ้น 396 หน่วยงาน
สำหรับเกณฑ์การประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ แบ่งเป็น 5 องค์ประกอบ ดังนี้ 1.ความโปร่งใส (Transparency) ประเมินจากความคิดเห็นของประชาชนผู้รับบริการหรือ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตามประสบการณ์ในการรับบริการจากหน่วยงานภาครัฐและจากข้อมูลเอกสาร/หลักฐานเชิงประจักษ์ (Evidence Base) บนพื้นฐานของข้อเท็จจริงในการดำเนินงานของหน่วยงาน 2.ความรับผิดชอบ(Accountability) ประเมินจากความคิดเห็นของประชาชนผู้รับบริการ หรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตามประสบการณ์ในการรับบริการจากหน่วยงานภาครัฐ 3.การปลอดการทุจริตในการปฏิบัติงาน (Corruption-free Index) ประเมินจากการรับรู้ และประสบการณ์โดยตรงของประชาชนผู้รับบริการหรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ที่มีต่อการให้บริการของหน่วยงานภาครัฐ 4. วัฒนธรรมคุณธรรม (Integrity Culture) ประเมินจากความคิดเห็นของเจ้าหน้าที่ภายในหน่วยงานภาครัฐและจากข้อมูลเอกสาร/หลักฐานเชิงประจักษ์ (Evidence Base)บนพื้นฐานของข้อเท็จจริงในการดำเนินงานของหน่วยงาน 5. คุณธรรมในการทำงาน (Work Integrity) ประเมินจากความคิดเห็นของเจ้าหน้าที่ภายในหน่วยงานภาครัฐที่มีต่อการดำเนินงานของหน่วยงาน