ศาลปกครองกลาง แผนกคดีสิ่งแวดล้อม มีคำพิพากษาให้นายกองค์การบริหารส่วนตำบลแพรกษาใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ.2535 ควบคุมดูแลมิให้มีการกระทำใดๆ อันก่อให้เกิดกลิ่นเหม็นของมูลฝอยอันเป็นเหตุรำคาญแก่ผู้อยู่อาศัยในบริเวณใกล้เคียงบ่อขยะแพรกษา และให้ดำเนินการจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อลดและขจัดมลพิษในเขตพื้นที่ขององค์การบริหารส่วนตำบลแพรกษา ตามมาตรา 60 แห่ง พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 รวมทั้งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการกำกับดูแลให้นายกองค์การบริหารส่วนตำบลแพรกษาปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลโดยเคร่งครัด
"ศาลมีคำพิพากษาว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 (ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ) ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 5 (นายกองค์การบริหารส่วนตำบลแพรกษา) และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 6 (องค์การบริหารส่วนตำบลแพรกษา) ละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ " คำพิพากษาศาลปกครองกลาง ระบุ
ทั้งนี้ ศาลได้สั่งรวมสำนวนสองคดีที่สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนกับชาวชุมชนแพรกษา ตำบลแพรกษา อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ รวม 163 คน ยื่นฟ้องนายกเทศมนตรีตำบลแพรกษา ที่ 1, เทศบาลตำบลแพรกษา ที่ 2, ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ ที่ 3, อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ที่ 4, นายกองค์การบริหารส่วนตำบลแพรกษา ที่ 5, องค์การบริหารส่วนตำบลแพรกษา ที่ 6, สาธารณสุขจังหวัดสมุทรปราการ ที่ 7, อุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรปราการ ที่ 8, กรมควบคุมมลพิษ ที่ 9, กรมโรงงานอุตสาหกรรม ที่ 10 และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ที่ 11 โดยมีนายกรมย์พล สมุทรสาคร เป็นผู้ร้องสอด
คำฟ้องระบุว่า ผู้ฟ้องได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการปล่อยให้เจ้าของที่ดินเนื้อที่ประมาณ 150 ไร่ บริเวณซอย 8 นิคมอุตสาหกรรมบางปู หมู่ที่ 4 ตำบลแพรกษา ตักหน้าดินไปขายทำให้พื้นที่บริเวณดังกล่าวเป็นบ่อลึกแล้วปล่อยให้เป็นที่รกร้าง ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.2539 คลองธรรมชาติซึ่งอยู่ข้างๆ คันกั้นคลองได้พังถล่มลงมาในบ่อดิน ทำให้น้ำทะลักเข้ามากลายเป็นบ่อน้ำและมีผู้ลักลอบนำเศษขยะสิ่งของต่างๆ มาทิ้ง
หลังจากนั้นเมื่อปี พ.ศ.2554 นายกรมย์พลได้เช่าบ่อดังกล่าวกับเจ้าของที่ดินเพื่อประกอบกิจการรับทำการกำจัดสิ่งปฏิกูลมูลฝอยและกิจการสะสมวัสดุเหลือใช้ โดยได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ แต่มาปรากฏว่าได้มีการร้องเรียนจากประชาชนที่อยู่อาศัยบริเวณใกล้เคียงจากกลิ่นเหม็นรบกวนแต่ไม่สามารถแก้ปัญหาได้จนกระทั่งมีการขอยกเลิกการประกอบกิจการ แต่หลังจากนั้นยังคงมีการลักลอบนำขยะมูลฝอยมาทิ้งบริเวณบ่อขยะอีก
ต่อมาได้เกิดเหตุเพลิงไหม้บ่อขยะแพรกษาเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2557 และเกิดเหตุเพลิงไหม้ขึ้นอีกสองครั้งในวันที่ 8 เมษายน 2557 และวันที่ 12 พฤษภาคม 2557 ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศและมลพิษทางน้ำส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของผู้ฟ้องคดีรวมทั้งสิ่งแวดล้อมในบริเวณพื้นที่ใกล้เคียง ผู้ฟ้องคดีทั้ง 163 คน เห็นว่ากรมควบคุมมลพิษออกใบอนุญาตประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพเป็นการกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และอุตสาหกรรมจังหวัด รวมถึงผู้เกี่ยวข้องละเลยการปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด