สภาพัฒน์ เผย Q3/59 อัตราว่างงานทรงตัว ชั่วโมงทำงาน-รายได้เพิ่มขึ้น สะท้อนกาสาขาการผลิตเริ่มฟื้น

ข่าวทั่วไป Friday December 2, 2016 16:11 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ รายงานภาวะสังคมไทยในไตรมาส 3/59 การว่างงานยังคงทรงตัว โดยมีผู้ว่างงาน 362,513 คน คิดเป็นอัตราการว่างงาน 0.94% เทียบกับ 0.92% ในไตรมาส 3/58 โดยทั้งผู้ที่เคยและที่ไม่เคยทำงานมาก่อนมีการว่างงานเพิ่มขึ้นเล็กน้อย 0.2% และ 3.4% ตามลำดับ สอดคล้องกับจำนวนผู้ที่ขึ้นทะเบียนขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานที่เพิ่มขึ้น 21.2% ส่วนจำนวนผู้ว่างงานแฝงลดลงถึง 20.3% จากจำนวนผู้รอฤดูกาลลดลงมาก 28.4% และ ผู้ที่ทำงานน้อยกว่า 10 ชั่วโมง/สัปดาห์และต้องการทำงานเพิ่มลดลง 6% โดยผู้ที่ทำงานต่ำระดับก็ลดลงเช่นกันโดยลดลงถึง 13.4%

ทั้งนี้ การจ้างงาน 38,263,172 คนในไตรมาส 3/59 ลดลง 0.2% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยการจ้างงานภาคเกษตรลดลง 2.3% เนื่องจากพื้นที่เพาะปลูกได้รับความเสียหายจากอุทกภัยและเกษตรกรต้องเลื่อนการเพาะปลูกออกไป ทำให้การจ้างงานในภาคเกษตรยังคงลดลงแม้จะเป็นช่วงเวลาของการเพาะปลูกตามฤดูกาลปกติ

ส่วนภาคนอกเกษตรมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น 0.9% ในสาขาการก่อสร้าง การค้าส่ง/ค้าปลีก และการโรงแรม ภัตตาคารเพิ่มขึ้น 0.1% 3.9% และ 6.1% ตามลำดับ และจากการส่งออกที่ฟื้นตัวอย่างไม่ชัดเจนทำให้สาขาอุตสาหกรรมและการขนส่ง/การเก็บสินค้ามีการจ้างงานลดลง 1.9% และ 7.1% ตามลำดับ

แม้ว่าการจ้างงานยังคงลดลงต่อเนื่อง แต่มีการเพิ่มชั่วโมงทำงาน โดยชั่วโมงการทำงานรวมเพิ่มขึ้น 1.1% หรือเฉลี่ยเท่ากับ 44.1 ชั่วโมง/สัปดาห์ และชั่วโมงการทำงานของภาคเอกชนเพิ่มขึ้น 0.6% หรือเฉลี่ยเท่ากับ 47.1 ชั่วโมง/สัปดาห์ ผู้ที่ทำงานมากกว่า 40 ชั่วโมง/สัปดาห์ และ 50 ชั่วโมง/สัปดาห์ เพิ่มขึ้น 1.9% และ 0.2% ตามลำดับ

ขณะที่ผู้ทำงานต่ำกว่า 35 ชั่วโมง/สัปดาห์ ลดลงถึง 13.5% สะท้อนกิจกรรมในสาขาการผลิตต่างๆ เริ่มมีการปรับตัวในทางที่ดีขึ้น อาทิ สาขาอุตสาหกรรม และการขนส่ง/การเก็บสินค้ามีชั่วโมงการทำงานเพิ่มขึ้น 0.9% และ 2.7% ตามลำดับ ส่วนหนึ่งคาดว่าเป็นการผลิตเพื่อสะสมสต็อกสำหรับเทศกาลในช่วงปลายปี

ด้านรายได้ของแรงงาน พบว่าค่าจ้างแรงงานและเงินเดือนที่ยังไม่รวมค่าล่วงเวลาและผลประโยชน์ตอบแทนอื่นของภาคเอกชนเพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว 0.4% เมื่อหักเงินเฟ้อ 0.3% ทำให้ค่าจ้างเงินเดือนแท้จริงที่ยังไม่รวมค่าล่วงเวลาและผลประโยชน์ตอบแทนอื่นของภาคเอกชนเพิ่มขึ้น 0.2% ผลิตภาพแรงงานโดยรวมเพิ่มขึ้น 3.4% จากไตรมาส 3/58 เพิ่มขึ้นทั้งภาคเกษตรและนอกภาคเกษตร โดยภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 3.3% ภาคนอกเกษตรเพิ่มขึ้น 2.3% โดยเพิ่มขึ้นในทุกสาขาที่สำคัญ ได้แก่ การผลิต ก่อสร้างโรงแรมและภัตตาคาร การขนส่ง ค้าส่งค้าปลีก

สำหรับปัจจัยที่ต้องติดตามและให้ความสำคัญในระยะต่อไป ได้แก่ 1. การบริหารจัดการน้ำเพื่อไม่ให้กระทบพื้นที่เพาะปลูก จากปริมาณน้ำในเขื่อน ณ วันที่ 9 พ.ย.59 พบปริมาณน้ำในเขื่อนสำคัญ ๆ มีมาก (ระดับน้ำ 80–100 ของระดับกับเก็บน้ำของอ่าง) อาทิ เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนสิรินธร เขื่อนอุบลรัตน์ และบางเขื่อนมีปริมาณน้ำเกินความจุกักเก็บ (ระดับน้ำเกิน 100 ของระดับกับเก็บน้ำของอ่าง) อาทิ เขื่อนป่าสัก เขื่อนทับเสลา เขื่อนกิ่วคอหมา และเขื่อนแควน้อยซึ่งจะต้องมีการบริหารจัดการอย่างระมัดระวังเพื่อให้เกิดสมดุลน้ำในเขื่อน และไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่เกษตรที่จะมีการเก็บเกี่ยวในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี

2. การฟื้นตัวของการส่งออกที่จะมีผลต่อการจ้างงานในสาขาอุตสาหกรรม การส่งออกที่เริ่มมีอัตราการขยายตัวในไตรมาสที่สาม ประกอบกับดัชนีความเชื่อมั่นภาวะธุรกิจ (3 เดือนข้างหน้า) ในด้านคำสั่งซื้อสินค้าในต่างประเทศ และการส่งออก ปรับตัวดีขึ้นหลังจากติดลบต่อเนื่องอย่างน้อย 4 ไตรมาสที่ผ่านมา ชี้ว่าแนวโน้มการผลิตเพื่อส่งออกจะค่อยๆ กลับมาเพิ่มขึ้น โดยสัญญาณในช่วงแรกจะเป็นการเพิ่มชั่วโมงการทำงาน และหากสถานการณ์ดีขึ้นต่อเนื่องผู้ประกอบการจึงจะเริ่มจ้างงานเพิ่มขึ้น ซึ่งในไตรมาสที่ 3 มีสัญญาณการเพิ่มชั่วโมงการทำงานภาคเอกชนเพิ่มขึ้น 0.7% สาขาการผลิตมีชั่วโมงการทำงานเพิ่มขึ้น 0.9% ซึ่งต้องติดตามการฟื้นตัวของความต้องการสินค้าทั้งภายในและจากต่างประเทศในระยะต่อไป รวมทั้งการใช้กำลังการผลิต และการจ้างงานควบคู่กัน

ในไตรมาส 3/59 หนี้สินครัวเรือนยังมีแนวโน้มชะลอตัวต่อเนื่อง สะท้อนจากยอดคงค้างสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคของธนาคารพาณิชย์ที่ขยายตัวชะลอลงเหลือ 5.2% โดยเป็นการชะลอลงของสินเชื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อส่วนบุคคล และสินเชื่อบัตรเครดิต ซึ่งขยายตัวชะลอลงจาก 9.0% 3.7% และ 6.3% ในไตรมาส 2/59 เป็น 7.7% 2.7% และ 6.0% ในไตรมาสนี้ ส่วนหนึ่งเนื่องจากมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ของภาครัฐสิ้นสุดลง และธนาคารยังคงเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ ขณะที่สินเชื่อเพื่อซื้อหรือเช่าซื้อรถยนต์ขยายตัวเพิ่มขึ้น 1.9% ตามยอดขายรถยนต์ในประเทศที่ปรับดีขึ้น

ความสามารถในการชำระหนี้มีแนวโน้มลดลงดังจะเห็นได้จากการเพิ่มขึ้นของสัดส่วนหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ต่อสินเชื่อรวม ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 2.60% ในไตรมาส 2/59 เป็น 2.73% ในไตรมาสนี้ รวมทั้งลูกหนี้ที่ค้างชำระเงินต้นหรือดอกเบี้ยเกินกว่า 1 เดือน แต่ไม่ถึง 3 เดือน เพิ่มขึ้นจาก 3.20% ในไตรมาส 2/59 มาอยู่ที่ 3.26% ในไตรมาสนี้

ขณะที่การผิดนัดชำระหนี้เกิน 3 เดือนขึ้นไปของสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับมีมูลค่า 11,538 ล้านบาท ลดลง 31.1% และคิดเป็นสัดส่วน 3.5% ของยอดสินเชื่อคงค้าง สำหรับการผิดนัดชำระหนี้เกิน 3 เดือนขึ้นไปของสินเชื่อบัตรเครดิตมีมูลค่า 11,859 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16.9% และคิดเป็นสัดส่วน 3.7% ของยอดสินเชื่อคงค้าง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากช่วงก่อนหน้ามีธนาคารบางแห่งไม่จัดชั้นให้ลูกหนี้ด้อยคุณภาพเป็นเอ็นพีแอล แต่หลังจากธนาคารแห่งประเทศไทยเข้าไปตรวจสอบและดำเนินการอย่างเข้มงวดทำให้เอ็นพีแอลในกลุ่มดังกล่าวสูงขึ้น

เมื่อพิจารณาการก่อหนี้ของกลุ่มผู้มีรายได้น้อย โดยอาศัยข้อมูลเบื้องต้นของโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งเปิดให้ลงทะเบียนระหว่างวันที่ 15 กรกฎาคม-15 สิงหาคม 2559 พบว่า มีผู้ที่รายได้ไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี และมีอายุเกิน 18 ปี มาลงทะเบียนทั้งสิ้น 8,321,775 คน ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร ผู้รับจ้างทั่วไป และผู้ว่างงาน

ทั้งนี้ ผู้ที่มาลงทะเบียนทุกคนล้วนเป็นหนี้ทั้งในระบบและนอกระบบส่วนใหญ่เป็นหนี้ในวงเงินไม่เกิน 30,000 บาท แต่หากเป็น การกู้ในวงเงินตั้งแต่ 30,000 บาทขึ้นไป จะมีสัดส่วนของการกู้นอกระบบสูงกว่าในระบบมาก สะท้อนถึงการไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบสถาบันการเงินปกติได้เนื่องจากมีรายได้ไม่แน่นอนหรือไม่มีเอกสารรายได้ประกอบการขอสินเชื่อ มีผู้ที่เป็นหนี้นอกระบบวงเงินเกิน 100,000 บาท จำนวน 903,619 คน หรือคิดเป็น 10.9% ของผู้ที่มาลงทะเบียนทั้งหมด และในจำนวนนี้มี 14,484 คน ที่กู้เงินนอกระบบ วงเงินเกิน 1 ล้านบาท มี 1,009 คน ที่กู้เงินนอกระบบวงเงินเกิน 3 ล้านบาท ซึ่งนับเป็นการสร้างหนี้ที่เกินตัวและต้องแบกรับภาระการผ่อนชำระดอกเบี้ยในอัตราที่สูงกว่าที่กฎหมายกำหนดมาก ทำให้มีความเสี่ยงต่อความสามารถในการชำระหนี้ในอนาคตและอาจส่งผลกระทบในด้านอื่นๆ ตามมา

ดังนั้น แนวทางในการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ จึงต้องมีการบริหารจัดการทั้งด้านเจ้าหนี้และลูกหนี้ควบคู่กันไป ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2559 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการของการบริหารงานเพื่อการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ อย่างบูรณาการและยั่งยืน ดังนี้

1. ดำเนินการอย่างจริงจังกับเจ้าหนี้นอกระบบที่ผิดกฎหมาย โดย (1) ประชาสัมพันธ์ให้เจ้าหนี้นอกระบบเข้าร่วมไกล่เกลี่ยประนอมหนี้กับลูกหนี้ และให้คิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยืมไม่เกิน 15% ต่อปี (2) เปิดช่องทางให้เจ้าหนี้นอกระบบจดทะเบียนเป็นผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อย ทั้งสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ (Personal Loan) สินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้การกำกับ (สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์) และสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ (สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์) และ (3) เร่งรัดการบังคับใช้ร่างพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. .... ซึ่งจะมีการเพิ่มบทลงโทษสำหรับเจ้าหนี้นอกระบบที่เรียกเก็บดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดให้สูงขึ้น จากเดิมปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 1 ปี เป็นปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ และจะมีการบังคับใช้กฎหมายกับผู้กระทำผิดอย่างเข้มงวด

2. เพิ่มช่องทางการเข้าถึงสินเชื่อในระบบ โดย(1) กำหนดให้มีสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ เพื่อให้ประชาชนรายย่อยที่มีความจำเป็นต้องใช้จ่ายฉุกเฉินสามารถกู้ยืมเงินในระบบได้ง่ายและรวดเร็วในวงเงินไม่เกิน 50,000 บาทต่อราย คิดอัตราดอกเบี้ยรวมค่าบริการและค่าธรรมเนียมไม่เกิน 36% ต่อปี โดยให้กู้ยืมทั้งแบบมีหรือไม่มีหลักประกัน และ (2) จัดตั้งหน่วยธุรกิจด้านการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบภายในธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และมีผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่มีเงื่อนไขผ่อนปรนกว่าปกติเพื่อช่วยเหลือแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบแก่ประชาชนโดยเฉพาะ

3. ลดภาระหนี้นอกระบบโดยการไกล่เกลี่ย ประนอมหนี้ โดยจัดให้มีจุดให้ค ปรึกษาปัญหาหนี้นอกระบบ ณ สาขาของธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรทั่วประเทศ เพื่อช่วยดูแลให้คำปรึกษาแก่ประชาชนในเบื้องต้น และช่วยนำลูกหนี้นอกระบบเข้าสู่กลไกการไกล่เกลี่ยประนอมหนี้ของคณะอนุกรรมการไกล่เกลี่ยประนอมหนี้นอกระบบใน 77 จังหวัด เพื่อให้เกิดมูลหนี้ที่เป็นธรรม ก่อนที่ธนาคารจะได้พิจารณารีไฟแนนซ์สินเชื่อเข้าสู่ในระบบให้ตามศักยภาพของลูกหนี้

4. เพิ่มศักยภาพของลูกหนี้นอกระบบ ที่ไม่มีศักยภาพในการชำระหนี้ หรือมีความสามารถในการชำระหนี้ต่ำ จะได้รับการสนับสนุนฟื้นฟูอาชีพ ผ่านกลไกของคณะอนุกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพการหารายได้ของลูกหนี้นอกระบบใน 77 จังหวัด โดยจะได้รับการปรับเปลี่ยนทัศนคติและพฤติกรรมปลูกฝังความรู้และวินัยทางการเงิน รวมถึงฝึกอบรมอาชีพหรือทักษะฝีมือแรงงานอย่างเข้มข้น ตลอดจนมีการติดตามประเมินผลอย่างต่อเนื่องเพื่อไม่ให้กลับไปเป็นหนี้นอกระบบอีก

5. สนับสนุนการดำเนินงานแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบของหน่วยงานภาครัฐและองค์กรการเงินชุมชนที่เกี่ยวข้อง โดยจะมีการส่งเสริมการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบผ่านเครือข่ายองค์กรการเงินชุมชนต่างๆ เผยแพร่ความรู้และทักษะเกี่ยวกับการบริหารจัดการทางการเงินส่วนบุคคลแก่ประชาชนฐานราก ประชาสัมพันธ์ช่องทางที่ประชาชนจะขอความช่วยเหลือเกี่ยวกับปัญหาหนี้นอกระบบจากหน่วยงานภาครัฐ รวมถึงสร้างและพัฒนาฐานข้อมูลเกี่ยวกับหนี้นอกระบบเพื่อใช้ประโยชน์ในเชิงนโยบายต่อไป

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2559 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างแผนพัฒนาระบบการเงินภาคประชาชน พ.ศ. 2560-2564 เพื่อใช้เป็นกรอบแนวทางในการพัฒนาระบบการเงินภาคประชาชนที่ชัดเจน สร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจชุมชนผ่านการสร้างรายได้ ลดภาระทางการเงิน การเตรียมความพร้อมทางโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินภาคประชาชนให้เอื้อต่อการดำเนินการของผู้ให้บริการทางการเงิน และส่งเสริมให้ผู้ใช้บริการทางการเงินโดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อย สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินและสวัสดิการของรัฐได้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ รวมถึงส่งเสริมให้ประชาชนเห็นความสำคัญและประโยชน์ของการออมซึ่งจะช่วยให้ประชาชนมีวินัยทางการเงินมากขึ้น ตลอดจนส่งเสริมให้ผู้ให้บริการทางการเงินสามารถทำหน้าที่เป็นตัวกลางทางการเงินให้กับประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพส่งผลให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ