นายแพทย์โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า รัฐบาลมีนโยบายในการพัฒนาคนตลอดช่วงชีวิต มอบให้ 4 กระทรวงหลัก คือ กระทรวงมหาดไทย, กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงสาธารณสุขบูรณาการการทำงานร่วมกัน โดยผู้บริหารระดับสูงของทั้ง 4 กระทรวงได้มีการประชุมปรึกษาหารือเพื่อวางแผนการทำงานให้ครอบคลุมทุกมิติอย่างใกล้ชิด
โดยขณะนี้มีความคืบหน้า คือ ได้มีคำสั่งคณะกรรมการอำนวยการการพัฒนาสุขภาพคนตลอดช่วงชีวิต แต่งตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนการบูรณาการความร่วมมือ 4 กระทรวงฯ การพัฒนาคนตลอดช่วงชีวิต ในช่วงวัยสูงอายุ กำหนดเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ 3 S ประกอบด้วย 1.Strong ส่งเสริมสุขภาพให้แข็งแรง มีกระทรวงสาธารณสุขรับผิดชอบ 2.Security ส่งเสริมความมั่นคงปลอดภัย กระทรวงมหาดไทย รับผิดชอบ และ 3. Social Participation ส่งเสริมการมีส่วนร่วมในสังคม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เป็นผู้รับผิดชอบ
พร้อมทั้งได้กำหนดมาตรการ ตัวชี้วัด แผนการดำเนินงานในระยะ 5 ปี (พ.ศ.2560-2564) เพื่อให้การดำเนินงานพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ บรรลุเป้าหมาย “ผู้สูงวัยเป็นหลักชัยของสังคม" ผู้สูงวัยสามารถดูแลตนเองได้ ดำรงชีวิตประจำวันได้ และมีคุณภาพชีวิตที่ดี สอดคล้องตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพคน และด้านการสร้างโอกาสความเสมอภาคและเท่าเทียมกันทางสังคม เป้าหมายแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 คนไทยมีสุขภาวะที่ดีขึ้น และแผนผู้สูงอายุแห่งชาติ พ.ศ.2545-2564
สำหรับยุทธศาสตร์ที่ 1 ส่งเสริมสุขภาพให้แข็งแรง เน้นมาตรการส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุที่ยังไม่ป่วย ให้มีพฤติกรรมสุขภาพดี การพัฒนาระบบบริการผู้สูงอายุที่เข้าถึงง่ายไร้รอยต่อจากสถานบริการสู่ชุมชน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลจัดบริการสุขภาพผู้สูงอายุแบบบูรณาการ และมีคลินิกผู้สูงอายุในรพ. 120 เตียงขึ้นไป รวมทั้งการพัฒนาระบบส่งเสริมสุขภาพดูแลผู้สูงอายุระยะยาว
ยุทธศาสตร์ที่ 2 ส่งเสริมความมั่นคงปลอดภัย สนับสนุนเรื่องการออมและการมีงานทำของผู้สูงอายุ การพัฒนาเมืองที่เป็นมิตรกับผู้สูงอายุ 1 จังหวัด 1 เมือง และการคุ้มครองทางสังคม ไม่มีผู้สูงอายุถูกทอดทิ้งและโดนทำร้าย
ยุทธศาสตร์ที่ 3 การมีส่วนร่วมในสังคม ส่งเสริมพื้นที่ต้นแบบการบูรณาการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ และส่งเสริมพัฒนาชมรมผู้สูงอายุคุณภาพ ทั้งนี้ มีกลไกขับเคลื่อนการดำเนินงานทั้งในระดับชาติและระดับพื้นที่ โดยในระดับชาติมีคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ระดับจังหวัดและอำเภอมีคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพผู้สูงอายุ และในระดับตำบลมีคณะอนุกรรมการสนับสนุนการดูแลผู้สูงอายุตำบล ในรูปแบบประชารัฐ เพื่อผู้สูงวัยมีคุณภาพชีวิตที่ดี อยู่ในสังคมอย่างมีศักดิ์ศรี