นายกอบเกียรติ กสิวิวัฒน์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยว่า ภายหลังจากที่มีพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ เนื่องในโอกาสแรกนับแต่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ขึ้นทรงราชย์นั้น ทางเรือนจำทั่วประเทศอยู่ระหว่างดำเนินการตามขั้นตอนการปล่อยตัวผู้ต้องขังประมาณ 30,000 ราย ซึ่งแต่ละเรือนจำจะมีคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ต้องขังว่าเข้าหลักเกณฑ์หรือไม่ โดยคาดว่าจะสามารถปล่อยตัวผู้ต้องขังที่ได้รับการอภัยโทษรอบแรกได้ภายใน 3 วัน
สำหรับพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษครั้งนี้ ผู้ต้องขังที่ได้รับการพระราชทานอภัยโทษจะต้องเป็นผู้ต้องขังชั้นดี–ชั้นเยี่ยม ไม่ใช่ผู้ต้องโทษคดีฆ่าข่มขืน ฉ้อโกงประชาชน หรือค้ายาเสพติด ส่วนชั้นกลางลงมา–ชั้นเลวมาก จะไม่ได้รับการพระราชทานอภัยโทษ
รายงานข่าวระบุว่า สำหรับผู้ต้องขังในคดีสำคัญหรือผู้ต้องขังที่เป็นที่รู้จักวงสังคม เช่น นายชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์ ผู้ต้องขังคดีรื้อบาร์เบียร์ที่ต้องโทษจำคุก 2 ปี รอบนี้เป็นการได้รับพระราชทานอภัยโทษ ตามพระราชกฤฎีกาครั้งที่ 2 ทำให้จำนวนวันต้องขังลดลง และเตรียมได้รับการปล่อยตัวพ้นเรือนจำ
ขณะที่กรณีของนายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ในเครือผู้จัดการ และอดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งเป็นผู้ต้องขังคดีทำเอกสารรายงานการประชุมเท็จ ค้ำประกันกู้เงินธนาคารกรุงไทย ที่ศาลฎีกาตัดสินจำคุก 20 ปีนั้น ไม่ได้เข้าหลักเกณฑ์ตามพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษฉบับนี้ เนื่องจากนายสนธิ เป็นนักโทษชั้นกลาง เช่นเดียวกับ น.พ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีต รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาจำคุก 1 ปี เมื่อวันที 25 ส.ค.59 ที่ยังไม่เข้าหลักเกณฑ์ เนื่องจากเป็นผู้ต้องขังชั้นกลางเช่นกัน