พ.อ.อธิสิทธิ์ ไชยนุวัติ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.จราจรทางบก ซึ่งได้มีการศึกษาเปรียบเทียบอัตราโทษปรับให้มีความเหมาะสมมากขึ้น รวมทั้งศึกษากฎหมายจากต่างประเทศเพื่อนำมาเป็นแนวทางในการพิจารณาแก้ไขกฎหมายจราจรทางบกของประเทศไทย ซึ่งได้มีการเพิ่มอัตราโทษในกรณีการชำระค่าปรับล่าช้า หรืออายุความของคดีจราจร เป็นต้น
"การปรับปรุงแก้ไขกฎหมายจราจรทางบกนี้ เพื่อให้เกิดความเหมาะสม และให้ผู้กระทำความผิดเกิดความเกรงกลัว ไม่กระทำความผิดซ้ำ และเป็นการสร้างวินัยจราจรให้แก่ผู้ขับขี่" พ.อ.อธิสิทธิ์ กล่าว
โดยประเด็นการปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.จราจรทางบก มี 5 ประเด็นสำคัญ คือ 1.เมาแล้วขับ 2.การขับรถเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด 3.ใบอนุญาตขับขี่ 4.รถโดยสารสาธารณะ 5.การคาดเข็มขัดนิรภัย เช่น มาตรการบังคับสำหรับผู้ขับขี่เมื่อได้รับใบสั่งแล้ว แต่ไม่ชำระค่าปรับตามใบสั่ง มาตรการสำหรับผู้ขับขี่ที่กระทำความผิดซ้ำ มาตรการเพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้รถใช้ถนนให้สอดคล้องกับสภาพสังคมในปัจจุบัน
"สาระสำคัญ จะมีการแก้ไขเพิ่มเติมน้ำหนักของรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจากเดิม 1,600 กก. เป็น 2,200 กก., กำหนดให้ผู้ขับขี่มีหน้าที่ต้องจัดให้ผู้โดยสารที่นั่งมาด้วยคาดเข็มขัดนิรภัย, การแก้ไขเพิ่มเติมมาตรการบังคับสำหรับผู้ขับขี่ที่ไม่ชำระค่าปรับตามใบสั่ง คือ ให้ตำรวจจราจรออกหนังสือแจ้งเตือนให้ผู้ขับขี่หรือเจ้าของรถที่ไม่ชำระค่าปรับตามใบสั่งภายใน 15 วัน และหลังจากนั้นถ้ายังไม่มีการชำระค่าปรับ ก็จะให้พนักงานเจ้าหน้าที่แจ้งไปยังนายทะเบียนตามกฎหมายให้สามารถยึดหรือพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของบุคคลนั้นได้, การเพิ่มโทษผู้ขับขี่ที่ทำความผิดซ้ำเดิมภายใน 1 ปี ต้องเพิ่มค่าปรับอีกไม่น้อยกว่า 2 เท่า, เพิ่มโทษความผิดในการขับรถขณะเมาสุรา เป็นต้น" พ.อ.อธิสิทธิ์ กล่าว
ด้าน พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า การนำเสนอ ร่าง พ.ร.บ.จราจรทางบกนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ต้องการจะให้มีการเชื่อมโยงข้อมูลออนไลน์ระหว่าง สตช. และกระทรวงคมนาคม เพื่อจะได้ดำเนินการกับผู้ขับขี่ที่กระทำผิดกฎหมายจราจรที่เมื่อได้รับใบสั่งแล้ว แต่ยังละเลยไม่ไปชำระค่าปรับ ซึ่งสถิติที่ผ่านมาพบว่ามีผู้ไปจ่ายค่าปรับเพียง 20-30% เท่านั้น ดังนั้นจึงมีการเสนอพ่วงเข้ามากับ พ.ร.บ.จราจรทางบก ด้วยว่าถ้าได้รับแจ้งใบสั่งแล้วแต่ไม่จ่ายค่าปรับจะให้เจ้าหน้าที่ชะลอการต่อภาษีออกไป
"มีข้อสังเกตจากหลายหน่วยงานว่าการชำระภาษีเป็นหน้าที่ของประชาชนตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ จึงมีการหาทางออกร่วมกันว่า เมื่อมีปัญหานี้เกิดขึ้นให้เจ้าหน้าที่ขนส่งรับการชำระภาษี เพราะถือว่าเป็นหน้าที่ แต่จะไม่ออกแผ่นป้ายทะเบียนวงกลมให้ ซึ่งหมายความว่า จะไม่สามารถนำรถออกไปขับได้ และหากถูกจับก็จะยิ่งมีความผิดมากกว่าเดิม ดังนั้นในหลักการนี้ขอให้กฤษฎีกานำประเด็นนี้ไปปรับปรุงแก้ไขให้เรียบร้อย" โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว
พล.ท.สรรเสริญ กล่าวด้วยว่า เนื่องจากร่าง พ.ร.บ.จราจรทางบก อาจต้องมีขั้นตอนการดำเนินงานอีกระยะหนึ่งในส่วนของการผ่านความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ดังนั้นในส่วนที่เกี่ยวกับอัตราค่าปรับนั้น เพื่อจะบังคับให้ผู้ขับขี่ที่ทำผิดวินัยจราจรอยู่บ่อยครั้งเกิดความเกรงกลัว และสร้างความปลอดภัยต่อผู้ใช้รถใช้ถนนคนอื่นด้วย จะได้มีการดึงเรื่องนี้ออกมาเป็นมาตรา 44 เพื่อบังคับใช้ไปพลางก่อน จนกว่ากฎหมายฉบับจริงจะออกมา
"โดยจะให้คำสั่งตามมาตรา 44 ในกรณีการรับชำระค่าปรับ แต่ยังไม่จ่ายป้ายวงกลมให้ รวมทั้งการควบคุมวินัยจราจร การใช้รถใช้ถนนให้ถูกต้องตามกฎหมาย ให้มีผลใช้ทันภายในก่อนสงกรานต์สักระยะ เพื่อให้เกิดความคุ้นชินในเรื่องนี้" พล.ท.สรรเสริญ กล่าว