อธิบดีกรมควบคุมโรค เผยดำเนินมาตรการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคไข้หวัดนกต่อเนื่องหลังพบการระบาดของโรคหลายสายพันธุ์ในหลายประเทศทั่วโลก พร้อมสั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังทั้งในสัตว์และคนอย่างใกล้ชิด แนะผู้เดินทางไปต่างประเทศหลีกเลี่ยงสัมผัสสัตว์ปีกรวมทั้งนกธรรมชาติ และหมั่นล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่ หากพบผู้ป่วยสงสัยให้ดำเนินการสอบสวนโรคและเก็บตัวอย่างส่งตรวจเพื่อหาสาเหตุ แนะหลีกเลี่ยงนำซากสัตว์ปีกที่ป่วยตายมารับประทาน หากพบให้แจ้งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทันที
"ที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค (EOC) พบว่า ในช่วงนี้มีการระบาดของโรคไข้หวัดนกหลายสายพันธุ์ในหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งสายพันธุ์ส่วนใหญ่ไม่ก่อให้เกิดโรคในคน แต่มีบางสายพันธุ์ที่สามารถติดต่อและก่อโรคในคนได้ ยกตัวอย่างเช่น สายพันธุ์ H5N1, H7N7, H7N9, H5N6 เป็นต้น" นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าว
สำหรับประเทศไทยมีรายงานพบผู้ป่วยโรคไข้หวัดนกสายพันธุ์ H5N1 รายแรกเมื่อปี 2547 และผู้ป่วยรายสุดท้ายในปี 2549 หลังจากนั้นยังไม่พบผู้ป่วยโรคไข้หวัดนกเพิ่มอีก ส่วนสายพันธุ์อื่นๆ ที่พบในต่างประเทศยังไม่เคยมีรายงานในไทยมาก่อน ขณะที่องค์การอนามัยโลกได้รายงานผู้ป่วยโรคไข้หวัดนกสายพันธุ์ A (H5N1) ทั่วโลกตั้งแต่ปี 2546 จนถึงวันที่ 23 ธันวาคม 2559 พบผู้ป่วยยืนยัน 856 ราย เสียชีวิต 452 ราย โดยพบใน 16 ประเทศ
อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคไข้หวัดนกเกิดจากการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดนก หรือเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดเอ (Influenza A) ที่พบในสัตว์ปีก ซึ่งสัตว์ปีกทุกชนิด เช่น ไก่ เป็ด นกน้ำ นกชายทะเล สามารถติดเชื้อนี้ได้ การติดเชื้อมักพบในคนที่มีประวัติสัมผัสกับสัตว์ปีกที่ป่วย/ตาย ด้วยโรคไข้หวัดนก บุคคลที่ใกล้ชิดกับสัตว์ปีก โดยเฉพาะในกลุ่มสัตว์ปีกที่อยู่ตามชายแดนติดกับประเทศที่มีการระบาด และตลาดค้าสัตว์ปีกมีชีวิตที่มีการเลี้ยงสัตว์ปีกหลายชนิดไว้รวมกันเช่น เป็ด ไก่ นกพิราบ และห่าน จึงมีความเสี่ยงสูงกว่ากลุ่มอื่น ส่วนการแพร่จากคนสู่คนพบได้น้อย
อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กรมควบคุมโรคดำเนินมาตรการเพื่อเฝ้าระวังและประเมินความเสี่ยงโรคไข้หวัดนกในทุกพื้นที่อย่างต่อเนื่อง รวมถึงการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือการระบาดของโรค เนื่องจากหลายประเทศทั่วโลกรวมถึงประเทศเพื่อนบ้านยังคงพบการระบาดของโรคไข้หวัดนกอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับในช่วงนี้ใกล้เข้าสู่เทศกาลตรุษจีน ซึ่งจะมีการค้าขาย เคลื่อนย้ายสัตว์ปีกจำนวนมาก ประเทศไทยจึงมีความเสี่ยงที่จะเกิดการระบาดของโรคไข้หวัดนกได้ผ่านทางการเคลื่อนย้ายสัตว์และการเดินทางของประชาชนบริเวณแนวชายแดน จึงได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งรัดการเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกในพื้นที่ทั้งในสัตว์ปีกเลี้ยง นกในธรรมชาติ และในคน หากมีผู้ป่วยสงสัยให้ดำเนินการสอบสวนโรคและเก็บตัวอย่างส่งตรวจเพื่อหาสาเหตุ และตรวจสอบว่ามีประวัติเสี่ยงหรือไม่ เช่น ประวัติสัมผัสสัตว์ปีกป่วย/ตาย ประวัติเดินทางไปประเทศที่มีการระบาดของโรค หรือสัมผัสใกล้ชิด/ให้การดูแลผู้ป่วยปอดอักเสบ
ทั้งนี้มีคำแนะนำในการป้องกันโรคไข้หวัดนก โดยขอความร่วมมือประชาชนปฏิบัติดังนี้ 1.รับประทานเนื้อไก่และไข่ที่ปรุงสุก 2.ห้ามนำซากสัตว์ปีกที่ป่วยตายไปรับประทานหรือให้สัตว์อื่นกิน หากพบต้องรีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุข 3.หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ปีกที่มีอาการป่วยหรือตาย หากไปที่ตลาดค้าสัตว์ปีกมีชีวิตควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์โดยตรง 4.หากต้องสัมผัสกับสัตว์ปีกในระยะที่มีการระบาดในพื้นที่ ให้สวมหน้ากากอนามัย และสวมถุงมือ 5.ล้างมือทุกครั้งหลังการสัมผัสสัตว์ปีกและสิ่งคัดหลั่งของสัตว์ปีก 6.สำหรับผู้เดินทางไปต่างประเทศ สามารถเดินทางไปท่องเที่ยวยังประเทศที่มีการระบาดของโรคไข้หวัดนกได้ แต่ขอให้ระมัดระวังหลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ปีกรวมทั้งนกธรรมชาติ และล้างมือบ่อยๆด้วยน้ำและสบู่ 7.หากมีอาการเป็นไข้ ไอ ปวดเมื่อยตามร่างกาย และเคยสัมผัสสัตว์ปีก หรือผู้ป่วยปอดบวม ให้รีบไปพบแพทย์พร้อมแจ้งประวัติสัมผัสโรค หรือแจ้งประวัติการเดินทาง