พล.อ.ปัฐมพงศ์ ประถมภัฏ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลังเป็นประธานพิธีรำลึกพระมหากรุณาธิคุณต่อโครงการพระราชดำริฝนหลวง และเปิดงานโครงการความร่วมมือ R3 ณ เขื่อนแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ว่า ความร่วมมือในการบริหารจัดการน้ำและป่าต้นน้ำอย่างบรูณาการเกิดขึ้น โดย 3 หน่วยงานที่สนองงานตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ได้แก่ กรมฝนหลวงและการบินเกษตร กรมชลประทานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ และกรมป่าไม้ในสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือ R3 โดยมีเป้าหมายเพื่อการบริหารจัดการน้ำและป่าต้นน้ำอย่างบูรณาการ ในพื้นที่โครงการเขื่อนแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี เนื่องจากเป็นสถานที่ที่ทรงอำนวยการสาธิตฝนเทียมสูตรใหม่ครั้งแรกของโลกด้วยพระองค์เอง ณ เขื่อนแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2515
ด้านนายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ระบุว่า สำหรับโครงการความร่วมมือ R3 เพื่อการบริหารจัดการน้ำและป่าต้นน้ำอย่างบูรณการครั้งนี้ กรมฝนหลวงจะได้นำข้อมูลไปปรับแผนปฏิบัติการฝนหลวงให้สอดคล้องกับการบริหารจัดการน้ำและป่าต้นน้ำของประเทศ เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่อื่นๆ ของประเทศต่อไปทั้งปัจจุบันและอนาคต ซึ่งภายใต้ในโครงการดังกล่าวจะมีกิจกรรมโปรยเมล็ดพันธุ์พืชเพิ่มผืนป่าต้นน้ำบริเวณเขื่อนแก่งกระจาน ในพื้นที่รับน้ำเป้าหมาย 2,140 ตารางกิโลเมตร พื้นที่โปรยเมล็ดพันธุ์ 13,000 ไร่ที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมป่านไม้ และใช้เมล็ดพันธุ์ในการเป็นจำนวน 890,000 เมล็ด ประกอบด้วย เมล็ดพันธุ์ไม้ประดู่ มะค่าโมง มะข้ามป้อม มะกอกป่าและยางนา โดยมีระยะเวลาในการดำเนินงานระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-พฤศจิกายน 60 อีกด้วย
สำหรับแผนการปฏิบัติการฝนหลวงในปี 2560 นั้น ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงประจำภาคทั้ง 5 ศูนย์ ได้ดำเนินการจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 10-12 หน่วยปฏิบัติการ เพื่อปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือให้ครอบคลุม 25 ลุ่มน้ำหลักในพื้นที่ 77 จังหวัดตามแผนปฏิบัติการ โดยแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ดังนี้ ระยะที่ 1 ช่วงเดือนตุลาคม 2559 – กุมภาพันธ์ 2560 เป็นช่วงฤดูหนาว ซึ่งปกติจะหยุดปฏิบัติการฝนหลวงประจำปีประมาณเดือนพฤศจิกายนเป็นต้นไป แต่เนื่องจากสภาพอากาศมีความชื้นต่ำกว่าเกณฑ์ที่เหมาะสม จากนั้นจะตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงเคลื่อนที่เร็ว ที่สนามบินจังหวัดนครสวรรค์ พร้อมที่จะเดินทางไปปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือตามการร้องขอของศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงทั้ง 5 ศูนย์ ในช่วงที่มีสภาพอากาศเหมาะสมเป็นระยะสั้นๆ
ส่วนระยะที่ 2 ช่วงเดือนมีนาคม 2560 – เมษายน 2560 เน้นปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อสร้างความชุ่มชื้นให้กับพื้นที่เกษตรกรรมและป่าไม้ โดยเริ่มจากบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์/มีนาคม และขยายพื้นที่ช่วยเหลือไปในบริเวณลุ่มน้ำและภาคอื่นๆ ตามความเหมาะสมของสภาพอากาศ โดยมีเป้าหมายช่วยเหลือการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง เช่นข้าวนาปรัง ไม้ผล และไม้ยืนต้น และระยะที่ 3 ช่วงเดือนพฤษภาคม 2560 – กันยายน 2560 เน้นปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำฝนให้พื้นที่เกษตรกรรม ในช่วงเริ่มฤดูเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจประจำปีเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง เนื่องจากฤดูฝนมาล่าช้ากว่าปกติ หรือฝนทิ้งช่วงระหว่างฤดูเพาะปลูก
ส่วนแผนการเติมน้ำต้นทุนให้เขื่อนกักเก็บน้ำช่วงเดือนสิงหาคม 2560 – ตุลาคม 2560 เป็นการปฏิบัติการฝนหลวงเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักให้กับเขื่อนต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อสำรองไว้เป็นน้ำต้นทุนในการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้งที่จะมาถึงและเพื่อสาธารณะประโยชน์ต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่จะปฏิบัติการไปจนถึงประมาณกลางเดือนตุลาคมด้านแผนบรรเทาปัญหาหมอกควันและไฟป่า เน้นเฝ้าระวังในพื้นที่ภาคเหนือช่วงเดือนมีนาคม 2560 - เมษายน 2560 และภาคใต้ช่วงเดือนตุลาคม 2559 - พฤศจิกายน 2559 และช่วงเดือนพฤษภาคม 2560 - มิถุนายน 2560 โดยปฏิบัติการฝนหลวงและดัดแปรสภาพอากาศเพื่อลดความหนาแน่นของหมอกควันรวมทั้งการเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับพื้นที่ป่าไม้