นายพรพจน์ เพ็ญพาส รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เป็นประธานการประชุมกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก) ติดตามสถานการณ์อุทกภัยและดินถล่มในพื้นที่ภาคใต้ กล่าวว่า ตามที่ได้เกิดสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นเดือนธันวาคม 2559 และได้ทวีความรุนแรงมากขึ้นในช่วงต้นเดือนมกราคม 2560 ทำให้มีพื้นที่ประสบอุทกภัย 9 จังหวัด ได้แก่ พัทลุง นราธิวาส ยะลา สงขลา ปัตตานี ตรัง นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี และชุมพร ซึ่งนายกรัฐมนตรีห่วงใยประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ จึงได้สั่งการให้ ปภ.บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งช่วยเหลือผู้ประสบภัยโดยด่วน
จากการติดตามสถานการณ์ พบว่า ในช่วงวันที่ 31 ธันวาคม 2559-5 มกราคม 2560 ภาคใต้มีฝนตกหนักหนาแน่น คาดว่าจะมีฝนตกต่อเนื่องและคลื่นลมแรงจนถึงวันที่ 8 มกราคม 2560 หลังจากนั้นปริมาณฝนจะลดลง ทำให้สามารถเร่งระบายน้ำและผลักดันน้ำลงสู่ทะเล คลี่คลายสถานการณ์น้ำได้รวดเร็วขึ้น กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติจึงได้ประกาศยกระดับการจัดการสาธารณภัยจากระดับ 2 (สาธารณภัยขนาดกลาง) เป็นระดับ 3 (สาธารณภัยขนาดใหญ่) เพื่อให้การอำนวยการและเชื่อมโยงการแก้ไขปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน
พร้อมกันนี้ กอปภ.ก.ได้สั่งการให้ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต และสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดที่ประสบอุทกภัย ระดมสรรพกำลังทั้งเครื่องมืออุปกรณ์ เครื่องจักรกลด้านสาธารณภัย เครื่องสูบน้ำ เรือท้องแบน รถบรรทุกขนาดใหญ่ พร้อมเจ้าหน้าที่สนธิกำลังกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยจัดตั้งกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ส่วนหน้า) ณ ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 11 สุราษฎร์ธานี และเขต 12 สงขลา เป็นศูนย์กลางในการบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัย รวมถึงแบ่งมอบพื้นที่และภารกิจในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยให้ครอบคลุมทุกด้าน ทั้งการซ่อมแซมระบบสาธารณูปโภค เส้นทางคมนาคมให้สามารถใช้งานได้ตามปกติโดยเร็ว พร้อมดูแลความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สินของประชาชน การวางแผนแจกจ่ายถุงยังชีพให้สอดคล้องกับความต้องการและจำนวนผู้ประสบภัยแต่ละครัวเรือนตามวงรอบที่กำหนด รวมถึงวางระบบการติดต่อสื่อสารให้ใช้งานได้ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อให้สามารถประสานสั่งการแก้ไขปัญหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างทันท่วงที
ทั้งนี้ ในการดำเนินการให้ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลางในการแก้ไขปัญหา เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้ประชาชนได้รับการช่วยเหลือโดยเร็วที่สุด ที่สำคัญให้ยึดแนวทางการดำเนินงานตามแผนเผชิญเหตุ และแผนปฏิบัติการในแต่ละระดับอย่างเคร่งครัด เพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาให้ประชาชนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด
นอกจากนี้ ได้เน้นย้ำให้หน่วยปฏิบัติติดตามข้อมูลสภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา สถานการณ์น้ำ ระดับน้ำ และทิศทางการไหลของน้ำ จากกรมชลประทาน เพื่อวางแผนแก้ไขปัญหาและระบายน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบจากอุทกภัยมิให้ขยายวงกว้างและคลี่คลายโดยเร็วที่สุด อย่างไรก็ดี ประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ที่ได้รับความเดือดร้อนสถานการณ์อุทกภัย สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป