ซูเปอร์โพล เผยปชช.ส่วนใหญ่เชื่อมั่นรัฐบาลแก้ปัญหาน้ำท่วมภาคใต้กลับคืนสู่ปกติโดยเร็ว

ข่าวทั่วไป Sunday January 8, 2017 09:51 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เผยผลสำรวจเรื่อง"ความพอใจของประชาชนต่อ หน่วยงานรัฐช่วยเหยื่อภัยพิบัติน้ำท่วมภาคใต้" พบว่าประชาชนส่วนใหญ่เชื่อมั่นว่า รัฐบาลและทุกฝ่ายจะช่วยกันทำให้สถานการณ์กลับคืนสู่ปกติโดยเร็ว รวมถึงพอใจต่อความรวดเร็วฉับไวของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในการลงพื้นที่ภาคใต้ช่วยเหยื่อภัยพิบัติน้ำท่วม และเชื่อว่าการลงพื้นที่ครั้งนี้จะทำให้การช่วยเหลือดีขึ้น

ทั้งนี้ สำนักวิจัยซูเปอร์โพล ได้ทำการศึกษาตัวอย่างประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,514 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 5 – 7 มกราคม 2560

นายนพดล กรรณิกา ประธานชมรมขับเคลื่อนวิชาการเพื่อวิจัยความสุขชุมชน สำนักวิจัยซูเปอร์โพล กล่าวว่า ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 92.7 เชื่อมั่นต่อรัฐบาลและทุกฝ่ายจะช่วยกันฟื้นฟูทำให้สถานการณ์ภัยพิบัติกลับคืนสู่ปกติได้โดยเร็ว และเมื่อถามถึงความพอใจของประชาชนต่อกลุ่มบุคคลและหน่วยงานรัฐช่วยเหยื่อภัยพิบัติน้ำท่วมภาคใต้ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 83.7 พอใจต่อ กระทรวงมหาดไทย รองลงมาคือ ร้อยละ 82.9 พอใจต่อ ทหาร กองทัพ กระทรวงกลาโหม ร้อยละ 71.8 พอใจ กระทรวงเกษตรฯ ร้อยละ 70.4 พอใจ กระทรวงสาธารณสุข ร้อยละ 68.3 พอใจ สำนักนายกรัฐมนตรี ร้อยละ 54.7 พอใจ กระทรวงศึกษาธิการ ร้อยละ 53.7 พอใจ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร้อยละ 51.2 พอใจ ตำรวจ ร้อยละ 50.8 พอใจ กระทรวงแรงงาน และ ร้อยละ 50.1 พอใจกระทรวงคมนาคม

ส่วนความพอใจต่อความรวดเร็วฉับไวของ พล.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ภาคใต้ช่วยเหลือเหยื่อภัยพิบัติน้ำท่วม พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 85.6 พอใจมากถึง มากที่สุด ในขณะที่ร้อยละ 14.4 พอใจน้อย ถึง ไม่พอใจเลย นอกจากนี้ ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 85.2 ระบุ ผลของการลงพื้นที่ของ นายกรัฐมนตรีทำให้การช่วยเหลือเหยื่อภัยพิบัติน้ำท่วมภาคใต้ ดีขึ้น ในขณะที่ ร้อยละ 11.4 ระบุเหมือนเดิม และร้อยละ 3.4 ระบุแย่ลง

อย่างไรก็ตามที่น่าเป็นห่วงคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 79.6 ระบุปัญหาที่จะเกิดขึ้นซ้ำเติม เหยื่อภัยพิบัติน้ำท่วมภาคใต้ คือ ปัญหาขาดแคลน อาหาร น้ำดื่ม และยารักษาโรค รองลงมาคือ ร้อยละ 72.4 ระบุโรคระบาด ปัญหาสุขอนามัย ร้อยละ 71.5 ระบุปัญหาอาชญากรรม และรอง ๆ ลงไปคือ ปัญหาความยากจน ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาการเดินทาง คมนาคม ปัญหาการสื่อสาร และสาธารณูปโภค ตามลำดับ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ