พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงเกษตรฯ ได้ให้จัดตั้งศูนย์แก้ไขปัญหาภัยพิบัติทางการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตั้งแต่วันที่ 7 ม.ค.60 เป็นต้นไปจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย
จากรายงานสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้ จากที่ได้เกิดจากฝนตกหนักในพื้นที่ในช่วงวันที่ 30 ธ.ค. 59 – ปัจจุบัน พบว่า มีผลกระทบใน 8 จังหวัด คือ ชุมพร สุราษฎร์ธานี ตรัง นครศรีธรรมราช พัทลุง นราธิวาส ปัตตานี และ ยะลา โดยความรุนแรงสถานการณ์ แยกเป็น 3 กลุ่มจังหวัด ดังนี้ 1. จังหวัดที่คาดว่าจะกลับเข้าสู่สถานการณ์ปกติใน 1 - 2 วัน มี 3 จังหวัด ได้แก่ จ.ตรัง ปัตตานี และ ยะลา 2. จังหวัดที่คาดว่าจะกลับเข้าสู่สถานการณ์ปกติใน 3 - 4 วัน มี 3 จังหวัด ได้แก่ จ.นราธิวาส สุราษฎร์ธานี และ ชุมพร 3 จังหวัดที่คาดว่าจะกลับเข้าสู่สถานการณ์ปกติใน 6 - 7 วัน มี 2 จังหวัด ได้แก่ จ.พัทลุง และ จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งจากการวิเคราะห์ในข้างต้น จะเห็นว่าต้องมุ่งช่วยเหลือ จ.นครศรีธรรมราช โดยเฉพาะในเขตเมืองโดยด่วน ซึ่งขณะนี้กรมชลประทานได้สนับสนุนเครื่องสูบน้ำ รวม 110 เครื่อง เครื่องผลักดันน้ำ รวม 52 เครื่อง สถานีสูบน้ำไฟฟ้า 4 สถานี เครื่องจักรหนักจากส่วนกลาง และ อื่น ๆ
ส่วนในแผนระยะยาวนั้น จะได้เสนอนายกรัฐมนตรีจัดทำคลองผันน้ำ จ.นครศรีธรรมราช ทำให้เพิ่มอัตราการระบายน้ำจากที่มีในปัจจุบัน ได้อีก 5 เท่าตัว โดยใช้งบประมาณ 10,000 ล้านบาท คาดว่าเมื่อดำเนินการแล้ว ปัญหาน้ำท่วมจากคลองท่าดีจะบรรเทาลงไปมาก ซึ่งจะต้องดำเนินการให้เร็วที่สุด
ด้านนายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงเกษตรฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อให้การบริหารสถานการณ์และบัญชาการสถานการณ์เพื่อเผชิญเหตุอย่างมีประสิทธิภาพ ตามนโยบายนายกรัฐมนตรีและ รมว.เกษตรฯ ได้มอบหมายให้ผู้บริหารทุกหน่วยงานในสังกัดดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง ดังนี้ 1. มอบหมายให้นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ รองปลัดกระทรวงเกษตรฯ ในฐานะ ผู้อำนวยการศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทำหน้าที่กำกับ ติดตามและประสานงานการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยดังกล่าวของหน่วยงานต่าง ๆ ในสังกัดก.เกษตรฯ ในภาพรวม และประสานการดำเนินงานช่วยเหลือเกษตรกรระหว่างกระทรวง พร้อมทั้งรายงานผลการดำเนินงานให้ท่าน รมว.ก.เกษตรฯ และปลัดกระทรวงเกษตรฯ ทราบอย่างต่อเนื่อง
2. หัวหน้าส่วนราชการกระทรวงฯ ที่เกี่ยวข้องที่ดูแลพื้นที่ภาคใต้ โปรดติดตามสถานการณ์ ตรวจเยี่ยม อำนวยการและสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานในสังกัดเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบภัยตามภารกิจหน้าที่และตามความเหมาะสมจนกว่าสถานการณ์จะยุติ
3. การบูรณาการในแต่ละจังหวัด มอบหมายให้ประธานกรรมการขับเคลื่อนนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แบบเบ็ดเสร็จ (Single Command) เป็นผู้บูรณาการการทำงานกับทุกหน่วยงานในทุกมิติ
4. อธิบดีกรมชลประทาน อธิบดีกรมประมง อธิบดีกรมปศุสัตว์ และอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ส่งเจ้าหน้าที่มาร่วมติดตามสถานการณ์และประสานงานการแก้ไขปัญหา ประจำศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตร
5. หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสรุปรายงานความเสียหายและประเมินสถานการณ์ในแต่ละด้านทั้งในส่วนของราชการและผลกระทบต่อเกษตรกร ความช่วยเหลือ และอื่นๆที่เกี่ยวข้อง มาที่สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ทุกวันอย่างต่อเนื่องจนกว่าสถานการณ์จะพ้นวิกฤติดังกล่าว
6. การปฎิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ขอให้ประสานงานและบูรณาการกับผู้ว่าราชการจังหวัดในพื้นที่ประสบอุทกภัยทุกครั้ง และให้คำนึงถึงความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของเจ้าหน้าที่ผู้ปฎิบัติงานและทางราชการเป็นสำคัญ