นายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน ชี้แจงกรณีชาวนาลุ่มน้ำยมในเขตอำเภอโพธิ์ประทับช้าง และอำเภอโพทะเล จังหวัดพิจิตร ร้องทุกข์น้ำในแม่น้ำยมกำลังจะแห้งขอด ต้นข้าวนับหมื่นไร่กำลังจะแห้งตาย เหตุเพราะมีการแย่งกักตุนน้ำ และหน่วยราชการขาดการวางแผนจัดการน้ำที่ดีว่า ปัญหาแม่น้ำยมแห้งขอดเป็นช่วงๆ เกิดในช่วงปลายเดือนธันวาคมของทุกปี แต่กรมชลประทาน ไม่ได้นิ่งนอนใจในการแก้ไขปัญหา โดยตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ได้มีการศึกษาและวางแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำยมตอนบน ตอนกลาง และตอนล่างอย่างเป็นระบบ ทั้งโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลางและขนาดเล็ก ซึ่งได้มีการวางแผนการดำเนินโครงการก่อสร้างประตูระบายน้ำในแม่น้ำยม จำนวน 4 แห่ง โดยจะตั้งอยู่ในเขตจังหวัดพิจิตร 3 แห่ง ปัจจุบันกำลังอยู่ระหว่างดำเนินการศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เพื่อแก้ไขปัญหา รวมทั้ง จะเป็นการบรรเทาผลกระทบวิกฤตการใช้น้ำและปัญหาการกักตุนน้ำของชาวนาลุ่มน้ำยมให้หมดไปอนาคตอีกด้วย
แม่น้ำยมในเขตจังหวัดพิจิตร จะใช้ฝายยาง 3 แห่ง ประกอบด้วย ฝายยางสามง่าม ฝายยางพญาวัง และฝายยางบางคลาน เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการกักเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง ซึ่งก่อนหน้าที่จะเข้าสู่ฤดูแล้ง ได้มีการพองหรือยกฝายยางขึ้น เพื่อเก็บกักน้ำในลำน้ำไว้ใช้ ตั้งแต่ในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2559 แล้ว แต่เนื่องจากในพื้นที่มีการสูบน้ำจากแม่น้ำยมผ่านทางสถานีสูบน้ำ ด้วยไฟฟ้าที่มีอยู่ถึง 25 สถานี เพื่อนำไปใช้ในพื้นที่การเกษตรหลายหมื่นไร่ ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำยมลดลงอย่างรวดเร็ว จนทำให้มีสภาพแห้งขอดเป็นช่วงๆ โดยเฉพาะในพื้นที่อำเภอโพธิ์ประทับช้าง ซึ่งอยู่ด้านท้ายของฝายยางสามง่าม
กรมชลประทาน โดยโครงการชลประทานพิจิตร ได้มีการประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำในพื้นที่ให้กับประชาชนทราบอย่างต่อเนื่องตลอดมา ถึงข้อจำกัดของการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ เนื่องจากแม่น้ำยมไม่มีแหล่งน้ำต้นทุนที่จะเก็บกักน้ำไว้ใช้อย่างเพียงพอเหมือนลุ่มน้ำอื่น เช่น ลุ่มน้ำปิงที่มีเขื่อนภูมิพล และลุ่มน้ำน่านที่มีเขื่อนสิริกิติ์ เป็นแหล่งน้ำต้นทุน ประกอบกับในช่วงที่ปริมาณน้ำในแม่น้ำยมลดลง จนไม่สามารถนำน้ำขึ้นมาใช้ได้ เกษตรกรในพื้นที่ดังกล่าว จะหันไปใช้น้ำจากบ่อตอก บ่อน้ำตื้น และแหล่งน้ำใกล้เคียง มาใช้ในการเพาะปลูกเป็นประจำทุกปี จนกระทั่งเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จ โดยไม่เกิดความเสียหายแต่อย่างใด