นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค คาดแนวโน้มผู้ป่วยโรคฉี่หนูเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ เนื่องจากหลายพื้นที่เริ่มมีน้ำลด ทำให้มีน้ำขังและพื้นที่เปียกชื้น ซึ่งเชื้อโรคดังกล่าวจะปนเปื้อนอยู่ตามน้ำ ดินที่เปียกชื้น หรือพืช ผัก เชื้อสามารถไชเข้าสู่ร่างกายทางผิวหนังตามรอยแผลและรอยขีดข่วน และเยื่อบุของปาก ตา จมูก นอกจากนี้เชื้อยังสามารถไชเข้าทางผิวหนังปกติที่อ่อนนุ่มเนื่องจากแช่น้ำอยู่นาน และคนมักติดเชื้อโดยอ้อมขณะย่ำดินโคลน แช่น้ำท่วม ว่ายน้ำ หรืออาจติดโรคโดยตรงจากการสัมผัสเชื้อในปัสสาวะสัตว์หรือเนื้อสัตว์ที่ปนเปื้อนเชื้อ
"จากการเฝ้าระวังสถานการณ์โรคเลปโตสไปโรซิสหรือโรคฉี่หนูในปี 2559 ทั่วประเทศพบผู้ป่วย 2,275 ราย เสียชีวิต 34 ราย ในภาคใต้มีผู้ป่วย 697 ราย เสียชีวิต 15 ราย โดยจังหวัดในภาคใต้ที่มีผู้ป่วยมากที่สุด 5 อันดับได้แก่ นครศรีธรรมราช สงขลา พัทลุง สุราษฎร์ธานี และระนอง สำหรับในปี 2560 (1-13 ม.ค.60) ทั่วประเทศมีผู้ป่วย 28 ราย เสียชีวิต 1 ราย ส่วนภาคใต้มีผู้ป่วยแล้ว 10 ราย" นพ.เจษฎา กล่าว
กรมควบคุมโรคขอแนะนำวิธีป้องกันตนเองในขณะที่น้ำลดซึ่งมีปริมาณเชื้ออยู่ในสิ่งแวดล้อมมาก ประชาชนควรใส่รองเท้าบูท หรือสิ่งป้องกันสวมใส่บริเวณเท้าโดยเฉพาะช่วงหลังน้ำลดที่ต้องมีการทำความสะอาดบ้านเรือน อาจทำให้เกิดการติดเชื้อได้ ส่วนอาการที่พบได้บ่อยคือ ไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ และตาแดง อาการอื่นๆ ได้แก่ อาการเหลืองตัวเหลือง ผื่น จุดเลือดออกตามผิวหนัง ไอเป็นเลือด ตับโต ม้ามโต เป็นต้น หากมีอาการดังกล่าวและมีประวัติการสัมผัสแหล่งน้ำหรือในพื้นที่หลังน้ำท่วมควรรีบไปพบแพทย์ทันที หากมีข้อสงสัยสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโทรสายด่วนกรมควบคุมโรค 1422