กรมป้องกันฯ เตือน 10 จ.ภาคใต้รับมือน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่มช่วง 24 - 25 ม.ค.

ข่าวทั่วไป Tuesday January 24, 2017 13:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ในฐานะหัวหน้าศูนย์ประสานการปฏิบัติ กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) เปิดเผยว่า จากการติดตามสภาพอากาศกับกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า บริเวณความกดอากาศสูงกำลังค่อนข้างแรงปกคลุมประเทศไทยและทะเลจีนใต้ ทำให้มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังแรง ส่งผลให้ในช่วงวันที่ 24 – 25 ม.ค. 60 จะมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ในภาคใต้ตอนล่าง

กรมป้องกันฯ จึงได้ประสานแจ้งเตือน 10 จังหวัด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง กระบี่ ตรัง สตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส และศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 11 สุราษฎร์ธานี และเขต 12 สงขลา เตรียมพร้อมรับมือฝนตกหนักและฝนตกสะสมที่อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่ม ในพื้นที่เสี่ยงภัย โดยจัดเจ้าหน้าที่และมิสเตอร์เตือนภัยติดตามสภาพอากาศอย่างใกล้ชิด รวมถึงจัดชุดเคลื่อนที่เร็ววัสดุอุปกรณ์ และเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยประจำจุดเสี่ยงให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างทันท่วงที

ส่วนสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.59 ถึงวันที่ 24 ม.ค.60 ส่งผลให้มีพื้นที่ได้รับผลกระทบ 12 จังหวัด รวม 127 อำเภอ 831 ตำบล 6,286 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 584,643 ครัวเรือน 1,800,416 คน ผู้เสียชีวิต 85 ราย ผู้สูญหาย 5 ราย ถนน 4,314 จุด คอสะพาน 348 แห่ง ท่อระบายน้ำ 270 แห่ง ฝาย 126 แห่ง อ่างเก็บน้ำ 2 แห่ง สถานที่ราชการเสียหาย 25 แห่ง โรงเรียน 2,336 แห่ง

ปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลายแล้วอยู่ระหว่างการฟื้นฟู 5 จังหวัด ได้แก่ ระนอง กระบี่ ตรัง ชุมพร และประจวบคีรีขันธ์ ส่วนพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วมยังเหลืออีก 7 จังหวัด ได้แก่ นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี นราธิวาส ยะลา พัทลุง สงขลา และปัตตานี รวม 35 อำเภอ 200 ตำบล 1,113 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 108,847 ครัวเรือน 368,053 คน

โดยกรมป้องกันฯ ร่วมกับหน่วยทหารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องระดมสรรพกำลังและทรัพยากรปฏิบัติการให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัย พร้อมฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยให้กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว โดยทำความสะอาดบ้านเรือน สิ่งสาธารณประโยชน์สถานที่ราชการ และซ่อมแซมระบบสาธารณูปโภค รวมถึงเส้นทางคมนาคมให้ใช้งานได้ตามปกติ ตลอดจนเร่งสำรวจความเสียหายเพื่อเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูเยียวยาผู้ประสบภัยที่ครอบคลุมทั้งด้านการดำรงชีพ ชีวิตและทรัพย์สิน การประกอบอาชีพ และสิ่งสาธารณประโยชน์

อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กล่าวว่า ได้สั่งการให้ บกปภ.ช. ประสานจังหวัดดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีที่สุด โดยเร่งสำรวจและจัดทำบัญชีความเสียหายของบ้านเรือนและที่อยู่อาศัยของประชาชนอย่างละเอียด พร้อมระบุพื้นที่เป้าหมายให้ชัดเจน เพื่อเป็นข้อมูลให้หน่วยปฏิบัติวางแผนให้การช่วยเหลือบ้านเรือนประชาชนได้อย่างเหมาะสม เบื้องต้นให้ตรวจสอบข้อมูลความเสียหายเชิงพื้นที่ ซึ่งบ้านเรือนที่จะได้รับการเยียวยาเป็นลำดับแรกต้องเป็นที่ดินในที่ของเอกชน ซึ่งมีกรรมสิทธิ์ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่อยู่ในเขตป่าสงวน ป่าอนุรักษ์ และเขตหวงห้าม รวมถึงไม่อยู่ในพื้นที่บุกรุก หรือสร้างรุกล้ำลำน้ำ กรณีตรวจสอบพบว่าเป็นบ้านเรือนที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องวางแนวทางแก้ไขปัญหาเชิงกลยุทธ์ โดยใช้หลักนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ควบคู่กันไป

สำหรับบ้านเรือนที่ได้รับความเสียหายทั้งหลัง 272 หลัง รัฐบาลได้มีแนวคิดในการนำแบบแปลนบ้านของกรมโยธาธิการและผังเมืองมาเลือกใช้ให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ วงเงินงบประมาณ และความจำเป็นในการใช้งาน ขณะที่บ้านเรือนที่ได้รับความเสียหายบางส่วน 9,577 หลัง แยกเป็น เสียหายเล็กน้อย (โครงสร้างเสียหายต่ำกว่า 30%) เสียหายมาก (โครงสร้างเสียหาย 30-70%) ให้พิจารณาว่าจะซ่อมแซมตามสภาพเดิมหรือเสริมโครงสร้างใหม่ให้มีความมั่นคงแข็งแรง ทั้งนี้ การซ่อมแซมที่อยู่อาศัยให้ดำเนินการภายใต้การมีส่วนร่วมของหน่วยทหาร ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักประกอบกำลังสนับสนุนกับอาชีวศึกษา เครือข่ายช่าง วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยเจ้าของบ้านต้องมีส่วนร่วมในการตัดสินใจและซ่อมแซมบ้าน

สำหรับด้านสาธารณูปโภค ทั้งไฟฟ้า ประปา ถนน ที่อยู่ในความรับผิดชอบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หากไม่มีงบประมาณน้ำท่วมเพียงพอ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดจัดสรรงบประมาณจากวงเงินทดรองราชการ เพื่อซ่อมแซมให้สามารถใช้งานได้ตามปกติโดยเร็ว รวมถึงพิจารณาข้อมูลในภาพรวม เพื่อนำเสนอแผนงานและงบประมาณในการแก้ไขปัญหาระยะยาว อาทิ การทำท่อลอดการยกระดับพื้นผิวจราจร สำหรับเป็นข้อมูลเชิงนโยบายในการลดผลกระทบจากอุทกภัยในพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก

ด้านการเกษตร อาทิ พืชไร่ พืชสวน ประมง ปศุสัตว์ ให้จ่ายเงินเยียวยาแก่เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนด หากพื้นที่การเกษตรเสียหายโดยสิ้นเชิงและต้องใช้เวลาในการเก็บเกี่ยวผลผลิตให้ส่งเสริมการจ้างงานระยะสั้น สร้างอาชีพและรายได้ตามความเหมาะสม เพื่อให้มีรายได้ในช่วงที่ไม่มีผลผลิตทางการเกษตร ส่วนด้านชลประทานที่เป็นการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างทั้งระบบ ให้เชื่อมโยงแผนงานการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่รอยต่อของจังหวัด ด้านการแจกจ่ายสิ่งของช่วยเหลือ โดยเฉพาะข้าวสารของกระทรวงพาณิชย์ ให้จังหวัดกำหนดจุดจัดเก็บและพื้นที่เป้าหมายในการแจกจ่ายข้าวสารให้ชัดเจนและทั่วถึง เพื่อให้ผู้ประสบภัยได้รับการช่วยเหลือครอบคลุมทุกพื้นที่


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ